จากกรณี เกิดเหตุสุดเศร้าหลังพบนักปีนเขาหญิงชาวไทย 2 ราย เสียชีวิตระหว่างการร่วมภารกิจเดินป่าแบบระยะไกล หรือ เทรคกิ้ง บริเวณช่องเขาเมโสกันโตลาพาส ในเขตมัสตาง ทางตอนเหนือของเนปาล ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น
-เศร้า! นักปีนเขาหญิงไทย 2 ราย เสียชีวิตระหว่างเทรคกิ้งที่เนปาล

เกียวกับเรื่องดังกล่าวนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ย. พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ขอแสดงความอาลัยกับครอบครัวของนักปีนเขาทั้ง 2 ท่านครับ” สุขภาพในนักเดินทางผจญภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปีนเขามีความสำคัญมาก ทั้งการปีนเขาในภาวะภูมิอากาศปกติ ของประเทศไทย และยากยิ่งในพื้นที่ที่อากาศหนาวเย็น มีหิมะปกคลุมในเทือกเขาสูง โดยเฉพาะเทือกเขาในต่างประเทศ ที่ต้องผจญทั้ง ความสูงอากาศหนาวเย็น ออกซิเจนต่ำ อาหารที่ต้องเปลี่ยนชนิดในการทาน รวมถึงน้ำดื่ม ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีข้อจำกัดแตกต่างกัน

กรณีสองท่านนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงต้อง ขอให้ติดตามต่อไปครับ จากกรณีนี้ ขออนุญาต ให้ความรู้เบื้องต้นกับผู้ที่จะไปปีนเขา เป็นข้อมูล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีทั้ง 2 ท่านนี้นะครับ “นักปีนเขาทุกท่านจำเป็นต้องเตรียมสุขภาพเป็นอย่างดี โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัวที่อันตรายควรหลีกเลี่ยง และปรึกษาแพทย์ก่อน”

การเดินทางต้องมีการเตรียมสภาพร่างกาย ในการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็น การเตรียมออกกำลังกายล่วงหน้า เพื่อดู สมรรถภาพของ หัวใจ ปอดและกล้ามเนื้อ ในการเคลื่อนไหวของ แขนขาข้อเท้า ไปจนถึงการเตรียมอุปกรณ์ที่พอ เหมาะกับสถานการณ์ เช่น รองเท้าในการเดิน อุปกรณ์สวมใส่สำหรับความหนาวเย็น ตลอดจนฝน อุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ที่มีน้ำหนักเหมาะสม สามารถพกพาได้และเดินได้ไกลตามที่ต้องการ และควรจะซ้อมเดินก่อนครับ

การเตรียมยาให้พร้อม มีความสำคัญทั้ง ยาประจำตัวที่ต้องใช้ ยาแก้อาการฉุกเฉิน เฉพาะตัว รวมถึงยาแก้ไขอาการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะการซื้อยาในต่างประเทศไม่ง่ายเท่าในประเทศไทย บางครั้งมีข้อจำกัด การพบแพทย์ พบเภสัชกร ข้อกฎหมายตลอดจนการใช้ภาษาสื่อสารกันครับ

แม้เตรียมอย่างดีแล้วก็ต้อง เตรียมใจพบสิ่งที่ไม่คาดฝัน และควรซื้อประกันสำหรับ กรณีเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งประกันการเดินทางบางชนิดเท่านั้น ที่จะครอบคลุมการเดินทางกลับประเทศไทยโดยปลอดภัย ต้องซื้อให้ครอบคลุม การส่งกลับมารักษาที่ประเทศไทยด้วย ตลอดจนอาจต้องเรียนรู้ หรือมีผู้รู้ ระบบการรักษาพยาบาลของพื้นที่ สถานพยาบาลการส่งต่อ และประสานในพื้นที่ เบสแคมป์ต่างๆ เผื่อกรณีจำเป็นและฉุกเฉินด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงครับ

“ส่วนตัวเชื่อว่านักเดินเขาทุกท่านจะทราบดีอยู่แล้วครับ ห่วงแต่มือใหม่ ที่ต้องการผจญภัย หัวใจอยากปีนเขาแต่ร่างกายอาจจะไม่ได้ พร้อมเท่าที่ควร ควรต้องศึกษาให้รอบคอบ และรับฟังคำชี้แนะจากผู้มีประสบการณ์ พร้อมเตรียมการ ให้ครบถ้วนนะครับ”

ฤดูหนาว หลายอุทยานแห่งชาติเปิดให้ปีนเขาได้ ท่านที่รักการผจญภัยอย่าลืมตรวจสอบสุขภาพตัวเองก่อนด้วยนะครับ ซ้อมออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะหัวใจ ต้องมีความพร้อม ถ้าสูงวัยอาจจะต้องเดินสายพานตรวจหัวใจก่อน เพราะถ้าไปเป็นอะไรบนยอดเขา กว่าจะส่งถึงโรงพยาบาลลำบากมากครับ “แพทยสภามี สาขาวิชา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เวชศาสตร์การท่องเที่ยว ซึ่งมีในหลายโรงพยาบาล ท่านสามารถปรึกษา กับแพทย์ประจำตัวของท่าน หรือแพทย์เวชศาสตร์ท่องเที่ยวได้ครับ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่านทั้งสองอีกครั้งหนึ่งนะครับ”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Ittaporn Kanacharoen