วานนี้ (6 ธ.ค. 2565) European Data Protection Board หรือคณะกรรมการที่มีหน้าที่ปกป้องข้อมูลดิจิทัลของประเทศในสหภาพยุโรป ได้ลงมติว่าจะไม่อนุญาตให้เมตา อิงค์ บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก เลือกเผยแพร่โฆษณาบนหน้าฟีด โดยปรับแต่งจากข้อมูลความสนใจส่วนบุคคลของผู้ใช้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เสียก่อน 

คณะกรรมการได้มอบหมายให้หน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จากไอร์แลนด์ เป็นผู้ประกาศมติและดำเนินการดังกล่าวภายในเวลา 1 เดือน ซึ่งเป็นไปได้ว่า จะมีการสั่งปรับเงินจำนวนมากจากบริษัทด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เมตา อิงค์ กล่าวอ้างว่า จะถอดโพสต์ข่าวออกจากแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ถ้าหากรัฐสภาของสหรัฐผ่านร่างกฎหมายใหม่ที่มีเนื้อหาเอื้อให้องค์กรสื่อมวลชน สามารถรวมตัวกันต่อรองกับบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น อัลฟาเบท อิงค์ (กูเกิล) และ เมตา อิงค์ (เฟซบุ๊ก) ได้

แหล่งข่าวแจ้งว่า บรรดา ส.ส.สหรัฐ กำลังพิจารณาร่างกฎหมาย Competition and Preservation Act ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือธุรกิจสื่อมวลชนในประเทศที่กำลังประสบภาวะยากลำบาก ทำให้ทางตัวแทนของเมตา อิงค์ โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ โดยระบุว่า บริษัทเมตาอาจโดนบีบให้นำคอนเทนต์ข่าวออกจากหน้าฟีด ถ้าหากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ และยังมองว่า เป็นการด้อยค่าสิ่งที่แพลตฟอร์มช่วยเหลือองค์กรสื่อมาตลอด ด้วยการเพิ่มยอดสมาชิกและยอดผู้เข้าชม

เขายังเสริมด้วยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่คำนึวถึงความจริงที่ว่า องค์กรสื่อเหล่านี้นำคอนเทนต์มาเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม เพราะองค์กรได้ประโยชน์จากการทำเช่นนั้น ไม่ใช่เป็นไปในทางตรงข้าม

ฝ่ายของสมาพันธ์องค์กรสื่อมวลชนของสหรัฐ (News Media Alliance) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตสื่อ กำลังพยายามผลักดันให้รัฐสภาสหรัฐ เพิ่มร่างกฎหมายนี้เข้าไปเป็นกฎหมายความมั่นคงของชาติ โดยให้เหตุผลว่า ผู้ผลิตสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจำนวนมาก ไม่สามารถต่อสู้ทางธุรกิจต่อไปได้อีกแล้ว เนื่องจากการใช้ประโยชน์และเอาเปรียบของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้ ถ้าหากรัฐสภาไม่ลงมือแก้ไข อีกไม่นาน สหรัฐก็อาจจะมีโซเชียลมีเดียเป็นผู้สื่อข่าวหลัก

ขณะเดียวกัน ฝ่ายธุรกิจเทคโนโลยีก็คัดค้านกฎหมายดังกล่าว โดยมองว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นการเปิดช่องให้สื่อมวลชนมีโอกาสผูกขาดในตลาด อีกทั้งยังไม่มีข้อกำหนดว่า กองทุนที่ได้มาจากการต่อรองทางธุรกิจนี้ จะไปถึงมือผู้สื่อข่าวได้อย่างไร

เมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลียก็มีการบังคับใช้กฎหมายที่คล้ายคลึงกัน บีบให้เฟซบุ๊กต้องปิดหน้าฟีดข่าวของออสเตรเลียเป็นช่วงสั้น ๆ ต่อมา บริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัทซึ่งรวมทั้งเมตาและอัลฟาเบท ต้องเซ็นสัญญากับบริษัทและองค์กรสื่อมวลชนกว่า 30 ราย เพื่อจ่ายค่าชดเชยให้คอนเทนต์ที่สามารถเรียกยอดกดไลค์และเก็บรายได้จากโฆษณาได้

เครดิตภาพ : REUTERS