ปมร้อนแรงจากการปรับขึ้นค่าไฟภาคเอกชนในงวด ม..-เม.. 66 ที่หน่วยละ 5.69 บาท ได้ปะทุขึ้นมาอีกรอบ จนเกิดปรากฏการณ์ “บิ๊กคอร์ป” ทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ที่มีทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย รวมไปถึงสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมโรงแรมไทย เครือเอสซีจี กลุ่มพลังงานหมุนเวียน รวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการขึ้นค่าไฟภาคเอกชนงวดใหม่ ที่ทำให้ภาคเอกชนทั้งเล็กทั้งใหญ่ ต้องเดือดร้อนอย่างหนัก

ยื่น 5 ข้อแก้ไฟแพง

เวทีการเรียกร้องภาคเอกชนครั้งนี้…ไม่ใช่แค่การออกมาตอกย้ำ ข้อเสนอ 5 ข้อ เริ่มจากขอให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้าภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน ไม่ใช่ผลักภาระมาให้เอกชน และควรเจรจาลดค่าความพร้อมจ่าย หรือเอพี จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤติพลังงานสูง, ให้ขยายเพดานหนี้ 2 ปีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ ชะลอส่งเงินรายได้เข้าคลัง เพราะ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อน อยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้

นอกจากนี้ให้รัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ให้ปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือเอฟที แบบขั้นบันได สำหรับผู้ใช้ไฟน้อย ก็จ่ายในอัตราที่ถูกกว่าผู้ที่ใช้ไฟเยอะ ให้จัดเก็บคนละอัตรา เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า ช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น ใช้ไฟฟ้าในช่วงออฟพีค หรือช่วงใช้ไฟฟ้าต่ำมากขึ้น รวมถึงเสนอให้รัฐส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น เช่น ส่งเสริมติดตั้งโซลาร์ใช้เองให้มากขึ้น สามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกิน กลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อกเรื่องใบอนุญาต รง.4 ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้ ลดภาษีนำเข้าของแผงโซลาร์ สุดท้ายควรแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.ด้านพลังงาน) ขึ้นมา

ขู่ถ้าขึ้นศก.พังแน่นอน

ที่สำคัญ…ยังตอกย้ำชัดถึงผลกระทบ เพราะหากรัฐยังยืนยัน ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าภาคเอกชนในวันที่ 1 ม.ค.66 นี้ ปัญหาจะลุกลามบานปลาย กลายเป็นผลกระทบลูกโซ่ ประชาชนต้องเป็นผู้แบกภาระ หลังจากภาคเอกชนประกาศชัดแล้วว่า หากค่าไฟขึ้น ต้นทุนสินค้า สิ่งที่หนีไม่ได้ ก็ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น 5-12% เงินเฟ้อก็จะยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก โดย กกร. ระบุว่า หากค่าไฟปรับขึ้น จะกระทบกับเงินเฟ้อปีหน้า จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3% ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.5% ขณะเดียวกันยังทำให้ขีดความสามารถแข่งขันการค้าของไทย หลังจากปีที่ผ่านมาตกไปแล้ว 5 อันดับ ถ้าต้นทุนไทยยังแพงกว่าคู่แข่ง อย่างเวียดนามที่ค่าไฟราคาประมาณ 2.88 บาทต่อหน่วย และประกาศตรึงค่าไฟทั้งปี 66 เทียบกับไทย ที่ค่าไฟภาคเอกชน กำลังจะปรับขึ้นไป 5.69 บาทต่อหน่วย ต่างกันลิบลับทีเดียว…

นักลงทุนจ่อย้ายฐานออก

ประเด็นนี้…ไม่ใช่เพียงการพูดลอย ๆ เพราะตอนนี้ในเวทีภาคเอกชนออกมาระบุเอง ตอนนี้ผู้ประกอบการของไทยเอง เริ่มนำต้นทุนมากางกันแล้วว่า ตอนนี้การผลิตในประเทศไทย ต้นทุนเริ่มสูงลิบ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย เพราะไทยค่าแรงเริ่มสูง ค่าดอกเบี้ยก็ปรับขึ้น ยิ่งค่าไฟ ซึ่งเป็นต้นทุนใหญ่ของการผลิตสินค้า มาแพงกว่าคู่แข่งเกือบเท่าตัวอีก หลายคนเริ่มมีความคิด จะหนีตายย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และนี่ยังไม่นับรวมนักลงทุนต่างชาติ ที่ก่อนหน้านี้จ่อปักหมุดหมายย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศมาไทย เพื่อหนีปัญหาความขัดแย้งของโลก อาจพับแผนไปเพื่อนบ้านแทน

ตปท.ลังเลลงทุนไทย

หอการค้าขอบคุณรัฐเลิกเทสต์แอนด์โกดันท่องเที่ยว - ลงทุนคึกคัก  ยันคนละครึ่งเฟส 5 ต้องมา | เดลินิวส์

สนั่น อังอุบลกุล” ประธานหอการค้าไทย ระบุชัดว่า หอการค้าต่างประเทศ เรียกร้องให้หอการค้าไทย ช่วยเป็นกระบอกเสียงไปถึงรัฐบาล และไม่อยากให้เรื่องค่าไฟ ไปทำลายโมเมนตัมของการลงทุนและท่องเที่ยวที่ได้มาจากการประชุมเอเปค ถือเป็นช่วงเวลาที่ชี้ชะตาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี มองว่า ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าจะทำให้ความน่าสนใจเรื่องการลงทุนของไทยน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบควรประเมินได้ว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งที่ผ่านมาเอสซีจี เพิ่งปรับราคาสินค้าในกลุ่มไป 20% หากค่าไฟขึ้นอีก อาจต้องมาปรับราคาสินค้าขึ้นอีก 20%

เอสเอ็มอีอ่วมต้นทุนพุ่ง

เช่นเดียวกับ กลุ่มผู้ค้าปลีกไทย “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า กลุ่มค้าปลีก ส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นเอสเอ็มอี ที่ผ่านมาประสบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งดอกเบี้ย ค่าแรง มีมูลค่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่จ่ายอยู่รวมเป็นเงินกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี หากต้องปรับเพิ่มค่าเอฟที จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกกว่า 20% หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี 2.4 ล้านราย และการจ้างงานกว่า 13 ล้านคนในภาคค้าปลีกและบริการอยู่รอดในเมื่อรัฐบาลได้มอบของขวัญปีใหม่แล้วจึงอยากให้เพิ่มการตรึงค่าไฟออกไปก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี และหากตรึงได้ตลอดปีจะดีมาก ขณะที่ สมาคมโรงแรม “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย ชี้แจงว่า ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีต้นทุนภาระหนี้สินที่รอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ค่าไฟเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ซึ่งปกติไม่เกิน 5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันปรับสูงถึง 6-8% และก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่าไฟสัดส่วนของต้นทุนเท่ากับ 5% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ซึ่งไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้
แตกต่างจากธุรกิจอื่นดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจนี้ยังคงอยู่รอดจึงอยากขอของขวัญจากรัฐในการช่วยตรึงค่าไฟฟ้าตลอดปี 66

แฉเหตุค่าไฟแพง

อีกเสียงที่ต้องฟัง “สภาองค์กรผู้บริโภค” ที่ล่าสุดออกมาแฉถึงปัญหาทำไมค่าไฟประเทศไทยแพง เพราะการวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลผิดพลาดต่อเนื่อง นึกถึงความมั่นคงจนเกินความจำเป็น ที่สำคัญยังเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานไฟฟ้าของภาคเอกชนบางกลุ่มเกินสมควร ไม่มีความยืดหยุ่นต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศและของโลก ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าหรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ ปล่อยให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งขนาดเล็กและใหญ่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ซ้ำยังมีแผนการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีก จนภาคผลิตไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงเกือบ 70% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าของภาครัฐโดยตรงเหลือเพียง 30% และรัฐบาลยังปล่อยให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 50% ขณะที่กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่สามารถรองรับความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศควรกำหนดอยู่ที่ 15% เท่านั้น นับเป็นปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน

ยุเลิกจ่ายค่าเอพี

นอกจากนี้ยังเรียกร้องขอให้หยุดการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่ทั้งในประเทศและการนำเข้าจาก สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ไฟฟ้าล้นระบบ ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมทั้งให้รัฐบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ โดยกำกับดูแลให้ ปตท. จัดหาก๊าซธรรมชาติและจำหน่ายให้รัฐวิสาหกิจด้วยกัน และทบทวนสัญญาไฟฟ้าที่เอื้อเอกชน ในลักษณะมีค่าความพร้อมจ่าย แบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือเอพี

ทั้งนี้ทั้งนั้น…ทุกฝ่าย ทุกสายตา กำลังพุ่งไปที่ “ค่าความพร้อมจ่าย” หรือค่าเอพี ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายให้โรงไฟฟ้าประเภทใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน จะจ่ายให้เมื่อโรงไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า โดยสาเหตุที่ต้องจ่าย เพราะเป็นเงื่อนไขให้โรงไฟฟ้าต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าตลอดเวลา รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดวัน และสำรองให้พร้อมจ่ายไฟฟ้ากรณีมีข้อขัดข้อง รวมทั้งช่วยเสริมการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คือ พลังงานแสงแดด พลังงานลม ชีวมวล และชีวภาพ ซึ่งการจ่ายไฟฟ้ามีความไม่แน่นอนอีกด้วย

เตือนคนไทยค่าไฟแพงยันปีหน้า ย้ำทุกคนต้องช่วยกันประหยัด | เดลินิวส์

ทางออกลดได้เกือบบาท

“ค่าเอพี” เจ้าปัญหานี้เอง ทาง “อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธาน ส.อ.ท. ที่คลุกคลีกับเรื่องค่าไฟมาโดยตลอด เสนอทางออกว่า เมื่อไปดูค่าไฟฟ้า 5.69 บาทต่อหน่วยที่จะปรับขึ้นมา มีสัดส่วนค่าเอพีอยู่ที่เกือบ 1 บาทต่อหน่วย ถ้าตอนนี้ในภาวะวิกฤติทางรัฐน่าจะลดค่าจ่ายเอพีลง เช่น ลดจ่ายเอพีลง 40 สต. จ่ายแค่ 60 สต. เพื่อให้ความมั่นคงยังอยู่ แต่ก็ช่วยกันในภาวะวิกฤติ รวมกับลดค่าจ่ายหนี้ กฟผ. ลง 33 สต. และบริหารต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติใหม่ เพราะตอนนี้ของภาคเอกชน จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติราคาต่างกันเยอะมาก คือ ภาคครัวเรือน ใช้ก๊าซฯ ราคา 238 บาทต่อล้านบีทียูแทน แต่ภาคอื่น ๆ ใช้ก๊าซฯ ราคา 542 บาทต่อล้านบีทียูแทน อาจลดได้อีก 10 สต. เมื่อรวมกันแล้ว ค่าไฟก็จะลดได้กว่า 83 สต. เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ไม่ต้องผลักภาระให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะสุดท้ายคนที่ต้องแบกรับภาระก็ต้องเป็นประชาชนอยู่ดี

ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้ทางกระทรวงพลังงาน หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จะไม่รู้มาก่อนว่า อะไรจะเกิดขึ้น วงในกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในที่ประชุมได้มีผู้บริหารบางรายได้หยิบยกผลกระทบการผลักภาระให้กับภาคเอกชน แล้วอุ้มภาคครัวเรือน ซึ่งราคาต่างกันเกือบ 1 บาทมาแล้วว่า อาจจะถูกต่อต้านอย่างหนัก

ผู้บริโภคต้องรับกรรม

สุดท้าย!! ผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอยู่ดี เพราะภาคเอกชนย่อมต้องผลักภาระต้นทุนราคามาขึ้นราคาสินค้าแทน รวมทั้งปัญหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ขาดช่วงไป ระหว่างเปลี่ยนสัมปทาน ซึ่งได้สอบถามทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัทฯ ที่มี
หน้าที่รับผิดชอบมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่แน่นอน ชัดเจนว่า ในข้อเท็จจริงแล้วจะมีปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยเท่าใดกันแน่ จนทำให้เกิดการบริหารผิดพลาด ต้องนำเข้าเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามาในภาวะที่มีราคาสูงมากเข้ามาแทน

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงต้องรอดูว่า รัฐบาล กระทรวงพลังงาน จะหาทางออกในปัญหานี้อย่างไร เพราะทุกอย่างดูเหมือนเดินผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ต้องดูการตัดสินใจครั้งนี้จะเฉียบขาดแค่ไหน อย่างไร กับภาวะสถานการณ์ที่ต้องชั่งใจ บริหารทุกอย่างให้สมดุล ทั้งการหาเสียงกับประชาชน และอนาคตเศรษฐกิจของไทย เพราะถ้าผิดพลาดอีกครั้ง ประชาชนก็รับกรรมทั้งขึ้นทั้งล่องอยู่ดี!!.

…ทีมเศรษฐกิจ…