เมื่อวันที่ 3 ม.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ทิศทางการศึกษาไทยในปี 2566 นี้ จะเป็นการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาเด็กให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทุกมิติที่จะเกิดขึ้นกับบริบทของสังคมในโลกศตวรรษที่ 21 ต้องเพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning ในทุกวิชา ช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เพิ่มความสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง การส่งเสริมเรียนรู้ตลอดชีวิตตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ขณะเดียวกันจะต้องเน้นเพิ่มความเข้มงวดการสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมในทุกมิติ สนับสนุนการเรียนการสอนหลักสูตรทวิศึกษาและโครงการอาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรีมีอาชีพ นอกจากนี้ จะมีการเปิดหลักสูตรอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อปั้นเด็กไทยเข้าอุตสาหกรรมEV สู่เบอร์ 1 แห่งอาเซียนให้ได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเดินหน้า ตอบรับการเติบโตของอุตสาหกรรม EV

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยได้เจอกับพายุโควิดอย่างหนัก เนื่องจากเราพบเด็กหลุดจากระบบการศึกษา และภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้นในปี 2566 จะเป็นปีแห่งการสร้างโอกาสทางการศึกษาของเด็กทุกคน และเติมทักษะความรู้ของผู้เรียนทุกช่วงวัย รวมถึงการเดินหน้าสร้างเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพ การขับเคลื่อนนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย โดยเฉพาะการเพิ่ม 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย โดยเด็กนักเรียนจะต้องรู้จักการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือ การทำซีพีอาร์ให้ได้ ขณะนี้ครูจะมุ่งการอบรมพัฒนาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนสู่การเรียนแบบ Active learning เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ของโลกในศตวรรษที่ 21 ขณะที่อาชีวศึกษา จะต้องเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับสถานศึกษาให้มากขึ้นเป็น 50% อย่างไรก็ตาม แม้แต่ละนโยบายจะมีการขับเคลื่อนมาแล้วในปีที่ผ่านมา แต่ตนต้องการให้ปีหน้ามีการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น