เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้โพสต์รูปและข้อความเตือนชาวเน็ตให้ระมัดระวังภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ล่าสุดโดยระบุทำนองว่า “…เคสนี้สดๆร้อนๆ มีมิจฉาชีพ ทักผู้เสียหายไป อ้างตัวเป็น จนท. กระทรวงพาณิชย์ โทรฯมาหาเขาที่เป็นผู้ประกอบการ ที่เหยื่อหลงเชื่อ เพราะคนร้ายให้ข้อมูลบริษัทเขาได้ถูกต้องครบถ้วน คนร้ายอ้างว่าติดต่อเขามา เพราะหลังผ่านช่วงโควิดมา บริษัทหลายแห่งปิดตัว เลยมาแจ้งเขาให้อัพเดทข้อมูลบริษัทในเว็บของกระทรวง จากนั้นมันก็หลอกให้เหยื่อเข้าเว็บ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปลอม ตามระเบียบ และหลอกให้เหยื่อลงไฟล์ apk ในเครื่องเรียบร้อย

ตอนนี้เงินยังไม่รั่วไหลจากบัญชีอะไร แต่แอพ apk คนร้ายอยู่ในเครื่องเหยื่อเรียบร้อย วันต่อมามันทักมาคุยแล้วชวนทำบุญ ส่งเลขที่บัญชีมูลนิธิแห่งหนึ่งให้ ชวนทำบุญ 20 บาท ผู้เสียหายเช็กแล้วพบว่า เป็นบัญชีมูลนิธิจริง คิดว่าไม่มีอะไร ก็กดโอนเงินไป ซึ่งขั้นตอนนี้ ทำให้มิจฉาชีพที่ฝังแอพลงไปในเครื่องเหยื่อแล้ว ได้เห็นว่า Pin ที่เหยื่อใส่ลงไปในแอพธนาคารเพื่อปลดล็อกให้สามารถโอนเงินได้ คืออะไร

จากนั้น มิจฉาชีพ โอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อ เข้าบัญชีม้า หนึ่งครั้ง พันบาท ปรากฏว่า pin ที่มันได้ไป ใช้งานได้ จังหวะต่อไป ก็โอนเงินทั้งหมด ออกจากบัญชี เข้าบัญชีม้าเลย ตอนนี้ผู้เสียหายกำลังไปแจ้งความดำเนินคดี พ่อแม่พี่น้องโปรดระวัง อย่าหลงเชื่อพวกมิจฉาชีพที่ปลอมตัวเป็นหน่วยงานรัฐทักมาแบบนี้ ห้ามลงไฟล์ apk จากนอก store โดยเด็ดขาด แต่เคสนี้เป็นเคสที่ทำให้เราเห็นจังหวะในการขโมยข้อมูลของเหยื่อแบบชัดเจน เป็นขั้นตอน.

ภายหลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลายคนสงสัยว่าน่าจะเป็นพวกคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน พยายามหาทางหลอกเอาเงินในรูปแบบใหม่ก็เป็นได้ รวมไปถึงเคสกรณีที่มีผู้เสียหายอ้างว่า ยังไม่ได้แตะโทรศัพท์หรือทำอะไรกับโทรศัพท์ทั้งวัน แต่กลับกลายเป็นเงินหายเกลี้ยงบัญชี ซึ่งก็น่าสงสัยว่า อาจจะเป็นเคสคล้าย ๆ กันก็เป็นได้ เพราะแค่เพียงอีกฝ่ายรู้ข้อมูลทางการเงินทั้งหมด ก็สามารถโอนไปยังบัญชีม้าเวลาไหนก็ได้.

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ Drama-addict