สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นมีมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว ( เทปโก ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เตรียมการทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ผ่านกระบวนการกรองเพื่อลดสารอันตรายลงไม่น้อยกว่า 40% ลงสู่ทะเลเป็นปริมาณมากกว่า 1 ล้านตัน โดยยืนยันว่า เป็นมาตรการที่ผ่านการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( ไอเออีเอ ) เรียบร้อยแล้วนั้น


องค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ( พีไอเอฟ ) ซึ่งมีสมาชิก 17 ประเทศ รวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฟิจิ ออกแถลงการณ์ เมื่อวันพุธว่า การระบายน้ำเสียดังกล่าว “จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง” ต่อแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและพื้นที่จับปลาในมหาสมุทรแปซิฟิก ยิ่งไปกว่านั้น “ครึ่งหนึ่ง” ของประชากรทูน่าทั้งหมดบนโลกอาศัยอยู่ในทะเลบริเวณนี้


ด้วยเหตุนี้ พีไอเอฟขอเรียกร้องให้มีการป้องกันและยับยั้ง “การดำเนินการทุกรูปแบบ” ซึ่งมีแต่จะนำไปสู่การเกิดหายนะของการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ครั้งใหม่ โดยควรมี “มาตรการชัดเจนกว่านี้” ว่าจะไม่มีฝ่ายใดได้รับผลกระทบ


ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติครั้งแรก เมื่อเดือน เม.ย. 2564 ให้เทปโกทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะประมาณ 1.25 ล้านตัน จากอ่างเก็บ 1,020 แห่ง ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากอ่างเก็บน้ำเสียภายในโรงไฟฟ้าที่รองรับปริมาณน้ำได้สูงสุด 1.37 ล้านตัน จะเต็มความจุภายในปี 2565 พร้อมทั้งย้ำว่า “เป็นหนทางหลีกเลี่ยงไม่ได้” และ “เป็นวิธีการซึ่งเป็นไปได้มากที่สุด” ในการกำจัดน้ำเสียเหล่านี้ และเน้นว่า ไม่สามารถเลื่อนกำหนดการได้อีกแล้ว


แม้เทปโกยืนยันการใช้ครื่องกรองน้ำเสียประสิทธิภาพสูง เพื่อคัดแยกสารอันตรายออกจนเกือบหมด คงเหลือเพียง “ทริเทียม” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ต้องเป็นการบริโภค “ปริมาณมหาศาล” จึงจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีนและเกาหลีใต้ ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลโตเกียว “ทบทวนมาตรการ”.

เครดิตภาพ : REUTERS