จากกรณีกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ส่งหนังสือร้องขอความช่วยเหลือกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ให้ดำเนินการปราบปรามการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ลอบพับได้หรือ “ไอ้โง่” ที่มีผู้ลักลอบนำไปใช้ดักสัตว์น้ำในพื้นที่บริเวณอ่าวปากพนัง และอ่าวปากนคร จ.นครศรีธรรมราช กันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย จนทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวประมงประเภทอื่นที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ต่อมา รอง ผบ.ตร. สั่งการให้กองบังคับการตำรวจน้ำสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกำลังกวาดล้าง จับกุมและตรวจยึด “ไอ้โง่” ได้จำนวนมาก ขณะเดียวกันยังพบว่าปัญหาการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช เท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ของการทำประมงชายฝั่งแทบทุกจังหวัด จนทำให้ในหลายพื้นที่สัตว์ทะเลหลายอย่างกำลังจะสูญพันธุ์ ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายสมพร เกื้อสกุล หัวหน้ากลุ่มงานบริหารด้านการจัดการประมง สำนักงานประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอีก 1 จังหวัดที่พบปัญหาลักลอบใช้ลอบพับได้ หรือ “ไอ้โง่” เข้าทำการประมงในพื้นที่ชายฝั่ง และมีความรุนแรงไม่น้อยกว่าพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจากการเก็บข้อมูลด้านการสืบสวนพบว่า จังหวัดที่มีพื้นที่ประมงชายฝั่งทุกจังหวัดมีปัญหาลักลอบใช้เครื่องมือนี้ชนิดแทบทั้งสิ้น ไล่มาตั้งแต่ภาคกลางจนไปถึงภาคใต้ตอนล่างพบว่ามีการใช้มากที่สุดใน จ.สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช และปัจจุบันยังพบว่ามีการลักลอบใช้กันอย่างต่อเนื่อง แม้เจ้าหน้าที่จะกวดขันจับกุมก็ตาม

“ลอบพับได้ หรือ ไอ้โง่ เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ที่มีวิธีการดักจับสัตว์น้ำประเภทเดียวกับโพงพาง อวนลากตาถี่ คือใช้ดักจับน้ำตามกระแสน้ำขึ้นลง ซึ่งเป็นทางเดินของสัตว์น้ำ ซึ่งรัฐบาล คสช.ในสมัยนั้น ได้อาศัยอำนาจให้ยกเลิกใช้เครื่องมือดังกล่าว เนื่องจากต้องแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หลังจากประเทศไทยได้รับคำเตือนหรือ “ใบเหลือง” เนื่องจากการทำประมงที่ผิดกฎระเบียบที่เรียกว่า ระเบียบ IUU ที่มีการจับสัตว์น้ำในเครื่องมือประมงที่ผิดกฏหมาย, ขาดการรายงาน และไม่มีการควบคุม โดยให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่พอใจ ก่อนจะถูกแบนจากประเทศผู้ซื้อในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากการประมงมากที่สุดในโลก จนนำไปสู่ออก พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงเชิงพาณิชย์และมีผลครอบคลุมถึงการประมงในเขตแนวชายฝั่ง และกำหนดให้ โพงพาง อวนรุนอวนลากที่มีถุงตาอวนต่ำกว่า 4 ซม. และลอบพับได้ เป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย” นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวต่อไปว่า เดิมทีมีผู้นำเข้ามาเพื่อใช้ในธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่วนบุคคล เช่น บ่อเพาะเลี้ยงกุ้งปลา ปู เนื่องจาก พ.ร.ก.ประมง ปี 2558 มาตรา 67 ที่ห้ามมีไว้ในครอบครองเพื่อทำการประมงในเขตพื้นที่สาธารณะของแผ่นดิน แต่มีข้อยกเว้นในพื้นที่ส่วนบุคคล เมื่อกฎหมายเปิดช่องให้สามารถครอบครองเพื่อใช้ในที่ส่วนบุคคลได้ ทำให้มีการนำเข้ามาอย่างแพร่หลาย และเมื่อมีผู้มองเห็นช่องทางนำเครื่องมือชนิดนี้ไปวางดักจับสัตว์น้ำที่ใช้วิธีเดียวกับโพงพาง และได้ผลดีกว่าเครื่องมือทั่วไป เพราะไอ้โง่ มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถดักจับสัตว์น้ำได้ทุกชนิดและวัสดุที่ใช้เป็นอวนสีเขียวขนาดเล็กมีคุณสมบัติพิเศษคือเรืองแสงใต้น้ำทำให้สามารถล่อสัตว์น้ำทุกชนิดที่เดินทางตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลงให้เข้าไปหาลอบและติดกับดักในทุกทิศทาง ทำให้การวงลอบในแต่ละครั้งได้สัตว์น้ำนานาชนิดเป็นจำนวนมาก ส่วนลอบพับได้ที่พบเห็นและตรวจจับได้เกิดจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคนไทยให้สามารถนำมาต่อกันได้ยาวร่วม 100 เมตรต่อเส้น แล้วน้ำไปวางขวางทางน้ำเพื่อดักจับสัตว์น้ำ และเชื่อได้ว่าจะไม่มีสัตว์น้ำตัวไหน ไม่ว่าขนาดจะเล็กใหญ่ ก็ไม่สามารถเล็ดลอดไปได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าเครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายชนิดนี้จะถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละเลย แต่มีการกวดขันจับกุมและตรวจยึดอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ใช้และเครื่องมือลดลงแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายรายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเดลินิวส์ ว่า การตรวจจับเป็นไปได้ยาก ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่มีน้อย ทำให้การตรวจตราไม่ทั่วถึง ประกอบกับลอบพับได้หรือ ไอ้โง่ เป็นเครื่องมือประมงที่มีขนาดเล็ก แม่ว่าแต่ละเส้นจะมีความยาวระหว่าง 8-10 เมตรก็ตาม แต่เมื่อพับรวมกันก็จะเหลือขนาดแล้ว และเมื่อนำไปวางในลำน้ำหรือพื้นที่ร่องน้ำก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและสามารถทำได้เพียงคนเดียว เมื่อหย่อนลอบลงน้ำลอบก็จะจมลงสู่พื้นดีทันที ทำให้ยากต่อการตรวจจับ น้อยครั้งมากที่จะสามารถจับกุมได้พร้อมกับผู้ครอบครอง อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถกวาดล้างได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากยังมีช่องว่างของกฎหมายที่อนุญาตให้สามารถครอบครองเพื่อใช้ในพื้นที่ส่วนบุคคลได้ และราคาขายลอบต่อเส้นก็ไม่ได้สูงนักเฉลี่ยเส้นละ 800-1,200 บาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจยึดและใช้กฎหมายขั้นตอนแจ้งประกาศเจ้าของทรัพย์สินมาแสดงตัวก็จะไม่มีผู้มาแสดงตน ไม่เหมือนกับของกลางชนิดอื่นๆ เช่น เรือประมง แม้ว่าในขณะนี้ทางกรมประมงจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจน้ำ และ ตำรวจภูธร สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดก็ยังไม่ได้ผลมากนัก ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและหยุดการใช้เครื่องมือทำลายล้างชนิดนี้คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลในการแก้ข้อกฎหมายเพื่อให้มีการควบคุมอย่างรัดกุม

นายสมพร กล่าวอีกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กรมประมง ได้บังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังคงมีผู้ลักลอบใช้เครื่องมืออย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดพบว่าสัตว์น้ำหลายชนิดเริ่มหายากและลดลงอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เราจึงได้วิธีพูดคุยประชาสัมพันธ์ ผ่านทางอาสาสมัครประมง เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านชี้ให้เห็นถึงโทษของเครื่องมือชนิดนี้ที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความยั่งยืนด้านอาหารและอาชีพในอนาคต.