เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ตามข้อสั่งการของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการด่วนให้ นายอรรถพล เจริญชันษาอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช (รรท.ออส.) ระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทุกหน่วยงานในพื้นที่ เข้าสนับสนุนการควบคุมไฟป่า เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ทุกภาค มีความรุนแรง พร้อมทั้งให้จัดตั้งห้องควบคุมสถานการณ์ (War room) ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อช่วยบัญชาการและเชื่อมต่อกับ War room ของจังหวัด ตลอด 24 ชม. ขณะที่มีปฏิบัติการควบคุมและดับไฟป่า โดยให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (ผอ.สบอ.) ทุกพื้นที่กำกับดูแลช่วยเหลือ และสนับสนุนในทุกช่องทางด้วยทรัพยากรและสรรพกำลังที่มีอยู่นั้น

ทั้งนี้ นายอรรถพล ได้ลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่เขตอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุกแห่ง เพื่อดูว่าเกิดไฟป่าที่ไหนมากน้อยอย่างไร ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยใช้เวลาระหว่างวันที่ 6 มี.ค.-10 มี.ค. รวม 5 วัน เดินทางเข้าในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดไฟป่า และควบคุมดูแลสั่งการด้วยตนเองทำให้เกิดประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ไฟป่าดับสนิทเกือบหมดทุกแห่ง

รรท.อส.อธิบดี เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันและแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า ติดตามการทำงานของชุดปฏิบัติการเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าในพื้นที่รวมถึงโครงการฟื้นฟูประชากรวัวแดง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้มอบนโนบายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปกท.ทส. กำกับดูแลทุกหน่วยงานให้มีการทำงานเชิงรุกเน้นการสื่อสาร สร้างความรับรู้ เพื่อความเข้าใจแก่ประชาชน โดยมี นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ พร้อมทั้งนายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผอ.สบอ.3บ้านโป่ง หน.อุทยานฯ หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุกแห่งร่วมกันทำงานโดยสั่งการให้กำลังเจ้าหน้าที่ชุดเสือไฟ จาก 2 จังหวัดภาคใต้ 40 นาย เดินทางมาร่วมภารกิจดับไฟป่า รวมทั้งใช้เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ทำหน้าที่ลำเลียงกำลังเจ้าหน้าที่ รวมทั้งขนน้ำไปเทดับไฟในผืนป่าอีกด้วย

สำหรับจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) สะสมใน จ.กาญจนบุรี พบ 6,173 จุด โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีจุดความร้อนสูงสุด 5 อันดับแรก ของ จ.กาญจนบุรี ประกอบด้วย อุทยานฯเขื่อนศรีนครินทร์ 1,623 จุด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 1,037 จุด อุทยานฯ ไทรโยค 931 จุดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 779 จุด อุทยานฯ เอราวัณ 479 จุด ซึ่งล่าสุดขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว สภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการทำฝนเทียมโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะทำฝนเทียมในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยว จ.กาญจนบุรี ที่จำนวนลดลงไปจากสถานการณ์ไฟป่า ได้กลับคืนมาดีขึ้นดังเดิม

นายอรรถพล เผยต่อว่า ในด้านสถานกาณ์ช้างป่าขณะนี้มีคณะกรรมการช้างแห่งชาติ ซึ่งกำกับดูแลในภาพรวม 16 กลุ่มป่าทั่วประเทศรวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ซึ่งได้เตรียมใช้กฎหมายของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มาเป็นแนวทาง ในการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงได้ศึกษา ถึงการควบคุมประชากรช้าง ร่วมกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) การควบคุมช้างที่มีพฤติกรรมเกเร ให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ทั้งนี้ส่วนของการท่องเที่ยวทางทะเล ได้สั่งกำชับให้ทำความเข้าใจ ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวในการจะลงดำน้ำจะต้องมีทักษะเบื้องต้น เพื่อป้องกันความเสียหายของปะการัง

ส่วนกรณีที่มีข่าว และมีการโจษขานกันไปทั่วว่าไม่เหมาะสมในเรื่องการโยกย้ายนายช่างไฟฟ้า ให้ไปดำรงตำแหน่ง หน.หน่วยจัดการต้นน้ำหุบกระพง สบอ.3 เพชรบุรี และทำหน้าที่หัวหน้าพื้นที่เตรียมกำหนด เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพุสวรรค์อีกหนึ่งตำแหน่ง นั้น

นายประเวศ ศรีสุนทรไท ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้ชี้แจงว่า กรณีแต่งตั้งข้าราชการตำแหน่งช่างไฟฟ้าชำนาญงาน ไปทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานสนามเนื่องจากข้าราชการดังกล่าว เริ่มรับราชการตั้งแต่ พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันอายุราชการประมาณ 24 ปี และ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา มีประสบการณ์ทำงานด้านป่าไม้ โดยทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า อุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพุสวรรค์ จ.เพชรบุรี ข้าราชการดังกล่าว สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอื่น ๆ ในด้านเกี่ยวกับงานป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมนุษย์สัมพันธ์ดีกับเพื่อนร่วมงาน และประชาชนทั่วไป

ข้าราชการดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนสายงาน ตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ พื้นที่ซึ่งเตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ายังไม่มีสำนักงาน โดยให้ไปช่วยบุกเบิกงานดังกล่าว ประกอบกับในสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี มีข้าราชการปฏิบัติงานอยู่จำนวนจำกัด จึงได้ให้ข้าราชการที่ยังอยู่ในสายงานอื่นที่อยู่ในระหว่างการขอปรับเปลี่ยนสายงานไปปฏิบัติงานด้านป่าไม้ เพื่อสนับสนุนการทำงาน และเป็นการหาประสบการณ์.