กลายเป็นดราม่าสนั่น เมื่อ ลิซ่า BLACKPINK หรือ ลลิษา มโนบาล  ศิลปินระดับโลกสายเลือดไทย ได้ถ่ายแบบขึ้นปกนิตยสาร “Harper’s BAZAAR Singapore” พร้อมช็อตที่เผยให้เห็นรอยสักเล็ก ๆ บนแผ่นหลัง ต่อมาได้มีชาวเน็ตรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นเชิงว่า “ผิวเนียน ๆ สวย ๆ สักทำไม คนไทยถือว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เตือนเพราะหวังดี สักไปทำงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ ผู้ใหญ่เห็นก็ไม่ชอบ โดยเฉพาะพวกข้าราชการ เป็นไอดอลน่ารักให้เด็ก ๆ ทุกเพศ ทุกวัย ก็ดีอยู่แล้ว ภาพลักษณ์ภายนอกมีผล” ก่อนบอกอีกว่า “แต่ความรู้สึกคนจริงวัยเดียวกันไม่เท่าไร แต่อายุมาก ๆ สิ” ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ทันที

หลายคนออกมาปกป้อง ลิซ่า โดยมองว่าการสักเป็นสิทธิ์ของเธอ และเธอทำงานระดับโลก รายได้หลักล้าน ไม่จำเป็นต้องมารับข้าราชการ กินเงินเดือนน้อยนิดในเมืองไทย อีกทั้งยังเปิดรอยสัก ลิซ่า ที่คาดว่าเป็น “ดอกเอเดลไวซ์ (Edelweiss)” พร้อมความหมายลึกซึ้ง สะท้อนตัวตนของเธอได้อย่างชัดเจนและงดงาม

โดย “เอเดลไวซ์” เป็นดอกไม้ประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลักษณะเป็นดอกไม้สีขาว บริสุทธิ์ และมักพบบนเทือกเขาในยุโรป เรียกขานกันว่า “ราชินีแห่งเทือกเขาแอลป์” โดยเป็นดอกไม้ที่ ลิซ่า ชอบที่สุด เธอมักนำไปใส่คอลเล็กชั่นที่ออกแบบเอง เช่น นาฬิกาแบรนด์หรู  “BVLGARY” และ เครื่องสำอาง “MAC” รวมทั้ง มาร์โค บรูชไวเลอร์ พ่อเลี้ยงของเธอยังเป็นชาวสวิส นอกจากนี้ “ดอกเอเดลไวซ์” ยังหมายถึง “รักแท้” โดยเชื่อกันว่าชายใดหากมอบดอกไม้นี้แก่หญิงสาว สื่อถึงว่าเขามีความมั่นคง เนื่องจากดอกไม้ดังกล่าวจะบานเพียงปีละ 3 ครั้ง อีกทั้งหากเด็ด “ดอกเอเดลไวส์” มาแล้ว รูปร่างของมันจะไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่เหี่ยวเฉา ส่วนชื่อ “เอเดลไวซ์” มาจากภาษาเยอรมัน แปลว่า “สูงศักดิ์ (Edel)” และ “ขาว (Weiss)”  อีกด้วย

แม้ยังไม่มีการยืนยันว่า ลิซ่า สักจริงหรือไม่ แต่เรื่องนี้ก็กลายเป็นดราม่าให้ถกเถียงกันแบบเผ็ดร้อน

สำหรับ “การสัก” มีประวัติมายาวนาน นับแต่ยุคกรีกถือเป็นการทำสัญลักษณ์บนใบหน้าของ “ทาส” และ “อาชญากร” แต่หากสืบย้อนลึกไปกว่านั้น นักโบราณคดีสันนิฐานว่าการสักมีมาตั้งแต่ 8,000 ปีก่อน ด้วยหลักฐานที่ขุดพบจากหลุมฝังศพโบราณของกษัตริย์อียิปต์และอีกหลายวัฒนธรรม รวมถึงในเอเชีย ก่อนพัฒนาตามยุคสมัยและความเชื่อ กระทั่ง “การสัก” ได้กลายเป็น “ศิลปะบนเรือนร่าง” ในปัจจุบัน

ขณะที่เมืองไทยก็ผูกพันกับการสักมาช้านาน งานวิทยานิพนธ์ “ประวัติศาสตร์สังคมสังเขป เรื่องการสักร่างกายมองในมิติของความสัมพันธ์ทางเพศสภาพ” โดย รัตนา อรุณศรีสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2547.) ได้เผยถึงการสักในสมัยอยุธยาว่ามีทั้งการสักเลขที่ข้อมือ เพื่อแสดงถึงความเป็นไพร่ ที่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร ส่วนการสักหน้าผาก ถือเป็นผู้ต้องโทษปาราชิก นอกจากนี้ในหมู่ผู้ชายยังมีการสักเพื่อความคงกระพัน หรือแสดงออกซึ่งความเป็นชาย และความเป็นกลุ่มก้อน  ขณะที่การสักของผู้หญิงถูกล่าวถึงในแง่ลบทั้งสิ้น โดยมักถูกมองว่าเป็นผู้หญิงชั้นต่ำหรือโสเภณี  ในสมัยอยุธยา ผู้หญิงที่ถูกสักมีเพียงเพราะทำความผิด หรือทำเดรัจฉานวิชาเท่านั้น ชี้ชัดถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ ด้อยค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความเห็นของชาวเน็ตดังกล่าว ที่มีต่อรอยสักของ ลิซ่า ในเชิงลบนี้ จึงสะท้อนกรอบความคิดเดิม ๆ ต่อเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศหญิงและชาย ที่ยังคงมีอยู่ในชุดความคิดคนยุคนี้อย่างมีนัยสำคัญ แม้ ลิซ่า จะพิสูจน์ตัวเองจนกลายเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จระดับโลก  แต่เธอก็ยังไม่รอดถูกความคิดคนสังคมเก่ากดทับคุณค่าและความสามารถอยู่ดี!

จากการ “ตีตรา” มาในวันนี้ “รอยสัก” ถูกวิวัฒน์จนกลายเป็น “ศิลปะบนเรือนร่าง” ที่สะท้อนตัวตน ทัศนคติ ความเชื่อ แรงบันดาลใจ หรือแม้แต่ความทรงจำที่มีค่า ที่สำคัญยังเป็นบ่งบอกถึง “เสรีภาพบนร่างกาย”   ในเมื่อ “การสัก” วิวัฒนาการจนกลายเป็นหนึ่งในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ขนาดนี้ เราอย่าเดินถอยหลังกลับไปด้วยชุดความคิดที่ตกยุคตกสมัย จนกลายเป็นการเหยียดหรือด้อยค่ากันเลย!

ชาวบ้าน 1/4