เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 66 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการด้านการเกษตร ในฐานะคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงยุทธศาสตร์ “เกษตรกรมั่งคั่ง” ของพรรคเพื่อไทย ว่าคือการผ่าตัดโครงสร้างทางการเกษตรของประเทศไทย เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรขึ้นอีก 3 เท่า ภายใน 4 ปี นี่ธีมใหญ่

โดยแนวคิดมาจากปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 140 ล้านไร่ ทำเม็ดเงินในรูปแบบของผลผลิต-สินค้า และบริการเป็นมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท สรุปคือภาคเกษตรสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ 1 หมื่นบาท/ไร่/ปี นี่ไม่ใช่กำไรนะ เพราะถ้าหักกำไรแล้วเหลือนิดเดียว ยิ่งถ้าเป็นนาข้าวเหลือกำไรไร่ละ 1 พันบาท เท่านั้น

ตรงนี้ถือว่าต่ำมาก เพราะญี่ปุ่นทำได้ไร่ละ 8.5 หมื่นบาท ไต้หวันไร่ละ 5 หมื่นบาท เนเธอร์แลนด์ ไร่ละเป็นแสนบาท แต่เราจะขอแค่น้อง ๆ ไต้หวันก็พอ คือเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 3 หมื่นบาท/ปี ได้มั้ย? หมายความว่าเพิ่มขึ้นอีกไร่ละ 2 หมื่นบาท คูณกับ 140 ล้านไร่ ทำให้เพิ่มจีดีพีในภาคการเกษตรขึ้นมาอีก 2.8 ล้านล้านบาท

ถ้า 2.8 ล้านล้านบาท หมุนในระบบเศรษฐกิจ 2.5 รอบ คือ 7 ล้านล้านบาท แล้วจะทำอย่างไร ทำไมเราจึงติดหล่มไร่ละหมื่นบาทมานานแล้ว จีดีพีภาคการเกษตรโตแบบกระจุ๋มกระจิ๋ม เพราะเรามีปัญหาใหญ่ทางโครงสร้าง ไม่ผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด เคยผลิตอะไรก็ผลิตไปอย่างนั้น แม้ว่าผลิตแล้วแทบไม่เหลือกำไร รวมทั้งประสิทธิภาพการผลิตต่ำมาก เช่น นาข้าวผลิตข้าวเปลือกได้เฉลี่ย 540 กก./ไร่ ขนาดพื้นที่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือว่าดินดี น้ำดี ในระดับแถวหน้าของประเทศ ยังได้ข้าวเปลือก 800 กก./ไร่ เท่านั้น มันสำปะหลัง 3 ตันกว่า ๆ/ไร่ ตัวเลขแทบไม่เปลี่ยนเลย เพราะอะไร เพราะเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้น้อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเกษตกรสมัยเก่าอายุเกิน 50 ปี มีเกษตรกรสมัยใหม่แค่ 3%

แต่พรรคเพื่อไทยต้องการเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตรใหม่ คือ 1.ต่อไปนี้จะไม่ได้ให้เงินไปเปล่าเหมือนในอดีต แต่ให้เพื่อการลงทุน เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เปลี่ยนโครงสร้างการเพาะปลูกในสิ่งที่ตลาดต้องการ ทำในสิ่งที่มีออร์เดอร์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม วัวเนื้อ คือ ใช้หลักการตลาดนำ

2.เป็นเกษตรแบบก้าวหน้า เกษตรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีเพื่อความแม่นยำในเรื่องการให้น้ำ-ปุ๋ยมากขึ้น เป็นเกษตรแบบแปลงใหญ่จริงๆ ขนาดประมาณ 1,000 ไร่ 3.ขยายพื้นที่ชลประทาน อย่างมีเป้าหมาย และรวดเร็วกว่าปัจจุบัน ที่มีพื้นที่ชลประทานแค่ 35 ล้านไร่ คิดเป็น 25% เท่านั้นของพื้นที่การเกษตร ซึ่งยังต่ำกว่าเวียดนาม

4.ดูแลเรื่องต้นทุนการเพาะปลูก เช่น ส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้พลังงานไฟฟ้าในการสูบน้ำ ทดแทนการใช้น้ำมัน ซึ่งจะช่วยประหยัดได้ 3-4 เท่า ส่วนเรื่องปุ๋ยแพง ประเทศไทยผลิตแม่ปุ๋ย (ไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส-โพแทสเซียม) เองไม่ได้ จึงต้องนำเข้า ซึ่งราคาจะขึ้น-ลงวูบวาบพอสมควร บางช่วงราคาถูก แต่แปลกมากเกษตรกรไทยใช้ปุ๋ยสูตรเดียวกันหมด ไม่ได้เช็คว่าดินตรงนั้นต้องการปุ๋ยสูตรไหน เพราะสภาพดินแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องสนับสนุนให้เอกชน หรือใครที่สนใจตั้งโรงงานปุ๋ยทุกอำเภอ 1 โรงงานปุ๋ย โดย 1 โรงงานใช้เงินลงทุนประมาณ 7 ล้านบาท ผลิตปุ๋ยได้ 4,000 ตัน เพื่อขายปุ๋ยให้เกษตรกรในรัศมี 10 กม. เป็นปุ๋ยที่มีแร่ธาตุแม่นยำกับสภาพดินในอำเภอนั้นๆ ไม่ต้องตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ เพราะเดี๋ยวเจ๊งอีก

5.หน่วยงานราชการในภาคการเกษตรต้องมี KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ) งานวิจัยดีๆ ต้องนำมาใช้ โดยเฉพาะกุ้งส่งออกมีปัญหาโรคระบาด เพราะรัฐไม่ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้นักวิชาการเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดกุ้ง ปัญหานี้จึงแก้ไม่ได้ แล้วที่สำคัญต้องสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีแอพลิเคชั่นทันสมัยเกี่ยวกับการเกษตร

นายสัตวแพทย์ชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาข้าว 60-70 ล้านไร่ ถ้าจะแบ่งตรงนี้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 30 ล้านไร่ กลุ่มแรก พื้นที่นั้นน้ำดี ดินดี ได้ผลผลิตต่อไร่สูง คุณปลูกข้าวกันต่อไป

กลุ่มที่ 2 น้ำไม่ดี ภัยแล้ง น้ำท่วมซ้ำซาก ดินไม่ดี ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ คุณหันไปทำอย่างอื่นเถอะ อาจจะเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง ซึ่งมีกำไรต่อไร่มากกว่าข้าว หรือปลูกหญ้าเลี้ยงวัวเนื้อ ตัดหญ้าขายปีละ 6 ครั้ง มีรายได้มากกว่าปลูกข้าว หรือปลูกหญ้าเพื่อเข้าโครงการเลี้ยงวัวเนื้อตามออร์เดอร์

คือให้โควตา 30 ล้านไร่ เพื่อหันไปทำอย่างอื่น โดยช่วงรอยต่อ 3 ปีที่หันไปทำอย่างอื่น รัฐบาลจะให้แรงจูงใจไร่ละ 3,000 บาท (ใช้เงิน9หมื่นล้านบาท/ปี) ซึ่งได้มากกว่าปลูกข้าวที่เหลือกำไรไร่ละ 1,000 บาท แต่คุณต้องเปลี่ยนแปลงนะ! ในช่วง 3 ปีที่คุณเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพด 3 ล้านตัน ทดแทนการนำเข้า ถั่วเหลือง 4.5 ล้านตัน ทดแทนการนำเข้า รวมทั้งทุเรียนที่คนจีนต้องการอีกมาก หรือจะปลูกหญ้าเลี้ยงวัวเนื้อ แต่พรรคเพื่อไทยจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะเรามีเป้าหมายจะขยับไปเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อใช้เทคโนโลยี ใช้โนว์ฮาว เพื่อให้ได้กำไรต่อไร่สูงขึ้น

วกกลับไปดูชาวนา “กลุ่มแรก” เมื่อซัพพลายในตลาดหายไป 30 ล้านไร่ (จากกลุ่มที่ 2) ตนมั่นใจว่าราคาข้าวเปลือกจะปรับขึ้นทันทีไม่ต่ำกว่าตันละ 3,000-5,000 บาท เท่ากับว่ายิงปืนนัดเดียว แต่รายได้จะเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม ต่อไปไม่ต้องทำโครงการประกันราคาแล้ว

“ถ้าไม่แก้ที่โครงสร้างภาคการเกษตร ปัญหาจะวนลูปอยู่แบบนี้ไปตลอด ประกันราคาไปจ่ายเงินให้ใคร เพราะ 3 ใน 4 ของชาวนาภาคกลางทำนาเช่าเขาทั้งนั้น แต่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในสถานการณ์เฉพาะหน้า จะทำประกันราคา หรือรับจำนำอีกหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าคงไม่แล้ว แต่จะแทรกแซงราคาด้วยวิธีอื่น อาจไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ตอนนี้มีไอเดียแล้วแต่ยังไม่ได้เคาะ คือดูตั้งแต่ข้าวเปลือก-ข้าวสาร ดูกลไกตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง มีใครเกี่ยวข้องบ้าง เคยได้กันเท่าไหร่ ต่อไปนี้ต้องจัดสรรปันส่วนให้เหมาะสมจากปลายทาง เข้ามาหาต้นทาง คือปลายทางจะไม่ได้เงินเว่อร์เหมือนในอดีต แต่จะได้ในจำนวนที่เหมาะสม” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว