เมื่อวันที่ 23 มี.ค. นายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการช่วยเหลือ 2 ช้างป่าแม่ลูก ที่ตกลงไปในหลุมยุบใกล้โรงเรียนเหมืองสองท่อ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ ก็เร่งทำการสำรวจหลุบยุบเพิ่มเติม พบมีถึง 11 หลุม ที่มีขนาดใหญ่และลึก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขปิดหลุมยุบนี้โดยเร่งด่วน พร้อมให้นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ลงพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการ

นายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้ประชุมร่วมกับชุมชนเหมืองสองท่อ มูลนิธิพิทักษ์คชสาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อทำแผนปฏิบัติการกลบหลุมยุบในพื้นที่บ้านเหมืองสองท่อ โดยหลุมดังกล่าวทั้งหมด อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ และพื้นที่เหมืองเก่า

กรมอุทยานฯปิด11หลุมยุบ ‘ทองผาภูมิ’ เสี่ยงอันตรายคน-ช้างป่า

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต เผยว่า เดิมทีตามแผนเดิมต้องการที่จะกลบหลุมยุบทุกหลุมที่พบ ซึ่งต้องใช้ดินจำนวนมาก และความลึกของหลุมไม่แน่นอน อาจทำให้กลบปิดหลุมไม่มิด อีกทั้งต้องใช้งบประมาณมาก หากปล่อยไว้เนิ่นนาน อาจมีช้างป่าตกลงไปจนได้รับบาดเจ็บอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านแจ้งให้ทราบว่าเคยมีเด็กและสัตว์เลี้ยงตกลงไปในหลุมหยุบดังกล่าว จึงได้ทำมาตรการเพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงที่ช้างป่าจะตกไปในหลุมก่อน 3 หลุม

โดยหลุมที่ 1 จะไม่ปิดปากหลุม แต่จะทำทางลาด เพื่อให้ช้างลงไปแล้วสามารถขึ้นได้เอง หลุมที่ 2 หลุมนี้มีขนาดปากหลุมที่แคบและลึก ปากหลุมมีก้อนหินขนาดใหญ่ล้อมรอบ จึงต้องจัดหาท่อนไม้และเสาปูนที่ไม่ได้ใช้งานนำมาปิดปากหลุมให้แคบลง ส่วนหลุมที่ 3 เป็นหลุมที่มีต้นมะเดื่อและต้นกล้วย ซึ่งดึงดูดให้ช้างมาที่ปากหลุมและเสี่ยงอันตราย จึงได้ทำการล้อมรั้วลวดหนาม เพื่อป้องกันช้างตกหลุม ในระดับความสูงของลวดหนามที่สามารถกันช้างที่มีขนาดต่างกันได้ ซึ่งช้างยังสามารถกินลูกมะเดื่อจากต้นได้เช่นเดิม ส่วนการดำเนินการต่อไป จะมีการปลูกหญ้าแฝกและต้นไผ่บริเวณปากหลุมทุกหลุม เพื่อป้องกันดินทรุดยุบตัวเวลาที่ช้างเดินมาใกล้ปากหลุม อีกทั้งรั้วลวดหนาม ยังป้องกันคนและสัตว์เลี้ยงเข้ามาบริเวณนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม จะมีการรวบรวมผลการดำเนินงานและรายงานข้อมูลต่างๆ ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อประสานให้นักวิชาการทางด้านธรณีและน้ำบาดาล เข้าวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางการจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม ให้กับคนและช้างป่าในพื้นที่ต่อไป อีกทั้งในการดำเนินการแก้ไขหลุมยุบของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ สร้างความประทับใจและพึงพอใจแก่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก ที่คิดเร็ว ทำเร็ว ในการแก้ไขปัญหา.