เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ในฐานะโฆษก MEA เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าสงสัยว่า ค่าไฟสูงขึ้นเพราะการไฟฟ้าขึ้นค่าไฟนั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง โดย MEA ยืนยันว่า ยังใช้หลักเกณฑ์วิธีการคิดค่าไฟฟ้าจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าในอัตราตามที่นโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด (ตรวจสอบได้ที่ https://www.mea.or.th/profile/109/111)

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยเห็นได้จากค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ล่าสุด มีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย. 66 ซึ่งค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด มักจะพบว่าอยู่ในช่วงฤดูร้อนทั้งสิ้น โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือเครื่องปรับอากาศหรือแอร์

ยกตัวอย่างเช่นในสภาวะอากาศปกติ เช่น อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากเราปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เช่น อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากเราตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียส แอร์จึงทำงานหนักมากขึ้น กินไฟมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิในสภาวะที่มีความร้อนจัดจากภายนอกรบกวน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า จากการทดสอบพบว่าอุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ถึงแม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม ประกอบกับในช่วงอากาศร้อนพฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น การเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

MEA มีข้อแนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ดี โดยยึดหลัก “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน