ภายหลังการจัดทำโพลความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง “เดลินิวส์และเครือมติชน” สื่อสองสำนักใหญ่ เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 โดยการทำโพลเปิดทั้งหมดสองรอบ รอบแรก 8-14 เม.ย. 66 ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว มียอดโหวตสูง 84,076 ราย ผ่านวิธีการโหวตออนไลน์ แบบไม่ซ้ำ IP Address ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน การเปิดโหวต “เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 รอบสอง” สื่อเครือเดลินิวส์ สามารถโหวตได้ผ่านเว็บไซต์ ผ่านเว็บไซต์ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll ได้ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันเสาร์ที่ 22 เม.ย. เป็นต้นไป และเดลินิวส์ก็ยังได้เตรียมโปรโมตเผยแพร่ช่องทางการเข้าไปทำโพลเอาไว้ให้กับประชาชนผ่านทุกแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย รวมทั้งจัดทำ “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนร่วมโหวตแคมเปญขึ้นมาโดยเฉพาะอีกด้วย

สำหรับประเด็น “คำถาม” ในโพลรอบสอง มีทั้งหมด 4 ข้อ เพื่อสะท้อนฉันทามติในกลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และทำโพลออนไลน์ผ่านสื่อเครือมติชน-เดลินิวส์ ดังนี้ คำถามข้อที่ 1 “ท่านจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 นี้” โดยคำตอบจะมีให้เลือกเป็นการคัดรายชื่อจาก 10 พรรคการเมืองที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรกจากผลโพลรอบแรก ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคอื่นๆ, ยังไม่ตัดสินใจ และไม่เลือก ส.ส.เขตจากพรรคใดทั้งสิ้น

ส่วนคำถามข้อที่ 2 “ท่านจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) พรรคใดในการเลือกตั้ง 2566 นี้” ซึ่งตัวเลือกคำตอบจะเหมือนกับคำถามข้อที่ 1 ตามด้วยคำถามข้อที่ 3 “ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี” คำตอบจะมีให้เลือกเป็นการคัดรายชื่อจาก 10 แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรกจากโพลรอบแรก ประกอบด้วย 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, 2.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, 3.นายเศรษฐา ทวีสิน, 4.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล, 6.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, 7.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, 8.นายกรณ์ จาติกวณิช, 9.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, 10.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ยังไม่ตัดสินใจ, เลือกคนอื่นๆ และไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ คนใดทั้งสิ้น

ปิดท้ายด้วยคำถามที่ 4 “ส.ว. ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดหรือไม่?” คำตอบมี 2 ข้อให้เลือก ได้แก่ 1.ควรเลือกแคนดิเตตนายกฯ จากพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด หรือ 2.เลือกจากพรรคการเมืองใดก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ที่เคยร่วมโหวตโพลรอบแรกไปแล้ว ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการโหวตครั้งประวัติศาสตร์รอบที่สองนี้ได้ เพียงแต่เมื่อทำโหวตรอบสองไปแล้วจะไม่สามารถโหวตซ้ำได้อีก เนื่องจากระบบมีการล็อกไอพีแอดเดรสชุดเดิมไม่ให้โหวตซ้ำ

นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กล่าวว่า โพลเดลินิวส์ X มติชน เลือกตั้ง ’66 รอบแรก ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปถือว่า ได้รับการต้อนรับค่อนข้างดีทั้งในส่วนของประชาชนผู้อ่านเดลินิวส์ และเครือมติชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้เห็นประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก เหมือนช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนอยากออกมาเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 66 โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขโพลครั้งแรกออกมา ซึ่งทีมคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ร่วมวิเคราะห์ผลโพล จากกลุ่มตัวอย่างที่เดลินิวส์และมติชนได้สำรวจครั้งที่ 1 จำนวน 84,706 คน ยืนยันว่ามีร้อยละของความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) อยู่ที่ประมาณ 0.34% ค่ามาตรฐานไม่เกิน 3% ซึ่งเพียงพอต่อการอธิบายความน่าเชื่อถือของผลสำรวจได้

“เมื่อผลโพลจากกลุ่มผู้อ่านของเดลินิวส์และเครือมติชนออกมาคลาดเคลื่อนน้อยมากเช่นนี้ เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้บรรดาพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือก ต่างต้องเร่งปรับตัวไม่มากก็น้อยในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง อย่างไรก็ดี ขอเชิญชวนผู้อ่านเดลินิวส์และเครือมติชน รวมไปถึงประชาชนชาวไทยทุกสาขาอาชีพ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพล ครั้งที่ 2 เพื่อช่วยเป็นเสียงสะท้อนไปยังสถาบันพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้ทราบว่ามาถูกทางแล้วหรือไม่”

ด้านนายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำโพลมติชน X เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66 รอบที่สอง มีสองเป้าหมายสำคัญ เป้าหมายแรกคือการตรวจสอบว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหน้าการเลือกตั้ง คะแนนนิยมของผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน จากการสำรวจครั้งที่หนึ่ง เป้าหมายต่อมาคือในการสำรวจครั้งที่สองนี้ เครือมติชนและเดลินิวส์ได้ขยายขอบเขตและเพิ่มเติมชุดคำถามออกไป โดยคำถามสองข้อแรกจะมีประโยชน์ในการใช้ทำนายคาดการณ์ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ขณะที่คำถามข้อสามเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังถูกคงไว้เช่นเดิม เพื่อสำรวจว่าผู้ทำโพลปรารถนาผู้นำทางการเมืองแบบไหน ส่วนข้อสุดท้ายคื คำถามที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ จากคำแนะนำของคณะนักวิชาการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อตรวจสอบเจตจำนง หรือความคาดหวังทางการเมืองของประชาชนที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของ 250 ส.ว. ภายหลังการเลือกตั้ง

“เชื่อว่าโพลมติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66 รอบสองนี้ น่าจะช่วยฉายภาพการแข่งขัน หรือความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ได้อย่างแหลมคม” นายปราปต์ กล่าว

นายสมปรารถนา คล้ายวิเชียร ผู้อำนวยการ กลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มติชน เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการทำโพล มติชน X เดลินิวส์ ครั้งที่ 1 ทำให้ได้ข้อมูลชุดสำคัญที่สะท้อนความคิดของผู้ร่วมทำโพลกว่า 80,000 คนว่า ชอบพรรคไหน, อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการทำโพลรอบที่ 2 ในระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน ซึ่งจะมีการถามซ้ำในประเด็นเดิม เพื่อตรวจสอบว่า ความนิยมต่อพรรคการเมือง และความนิยมต่อตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยังเป็นไปในลักษณะเดิม หรือมีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญหรือไม่ ในขณะเดียวกันการทำโพลรอบที่ 2 ยังมีการเพิ่มคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีตัดสินใจเลือก ส.ส.แบบเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว. ที่จะทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่ากระแสตื่นตัวที่จะร่วมทำโพลน่าจะยิ่งคึกคัก เพราะเป็นการทำสำรวจในช่วงโค้งสุดท้ายหรือ 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง น่าจะสะท้อนถึงความนิยมของผู้ใช้สิทธิ์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แคมเปญโพลความร่วมมือเจาะลึกศึกเลือกตั้ง 2566 ระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่วงการสื่อมวลชน “เดลินิวส์ X มติชน” ได้แถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารเครือเดลินิวส์ นำโดย นางประพิณ รุจิรวงศ์, นายปารเมศ เหตระกูล และนางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร นสพ.เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ร่วมกับ น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รวมถึง ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ นายศุภกร รวยวาสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิกเดฟ จำกัด ผู้ให้บริการระบบซิสเต็ม เอ็นจิเนียร์ และไอทีโซลูชั่นชั้นนำ เข้าร่วม

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลโพลเสร็จสมบูรณ์ข้อมูลครบถ้วนทั้งสองรอบแล้ว กอง บก.เดลินิวส์และเครือมติชน ร่วมกับคณาจารย์-นักวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ จะนำข้อมูลที่ได้มาจัดเวทีวิเคราะห์ผลโพล “เดลินิวส์ x มติชน เลือกตั้ง ’66” แบบเชิงลึกในวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 พร้อมกับไลฟ์สตรีมถ่ายทอดสดการจัดเวทีดังกล่าวผ่านช่องทางเฟซบุ๊กและยูทูบของเดลินิวส์ และสื่อเครือมติชน ได้แก่ มติชน มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ.