เมื่อวันที่ 23 เม.ย. สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 5 : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค) กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ จำนวนตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ 8,065 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19-22 เมษายน พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

คาดคนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 70%

เมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนเปรียบเทียบผลการศึกษาในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว กับ ผลการศึกษาครั้งล่าสุด พบว่า ผลการศึกษาสัปดาห์นี้ไม่พบความแตกต่างไปจากผลการศึกษาครั้งก่อนในเรื่องความตั้งใจจะไปเลือกตั้งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ที่พบในผลการศึกษาครั้งก่อนจะไปเลือกตั้งและส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.8 ในผลการศึกษาครั้งนี้จะไปเลือกตั้งเช่นกัน

ปลาไม่กระโดดข้ามบ่อ ก้าวไกลพุ่ง ภูมิใจไทยเป็นจ่าฝูง

รายงานของซูเปอร์โพล เคยระบุเชิงเปรียบเทียบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ เสมือนปลาในบ่อเลี้ยงสามบ่อ บ่อแรกคือ บ่อของฝูงปลานิยม พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล บ่อที่สองคือ บ่อของปลานิยม พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ และบ่อที่สามคือ บ่ออื่นๆ รวมถึงพลังเงียบ ผลการศึกษาครั้งนี้ พบประเด็นที่น่าสนใจคือ

พรรคก้าวไกล ได้รับความนิยมพุ่งขึ้นอันดับหนึ่งจาก ร้อยละ 6.7 ในการศึกษาปลายเดือนมีนาคม ขึ้นมาเป็นร้อยละ 24.4 ในการศึกษาล่าสุดเดือนเมษายน แต่ พรรคเพื่อไทย ลดลงจากร้อยละ 29.1 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ตกมาอยู่ที่ร้อยละ 11.2 ในการศึกษาล่าสุดเดือนเมษายน น่าจะชี้ให้เห็นได้ในมุมหนึ่งว่า ปลาไม่กระโดดข้ามบ่อ สิ่งที่พบคือ ความนิยมเพิ่มที่พรรคก้าวไกล ความนิยมลดลงจากพรรคเพื่อไทย

พรรคภูมิใจไทย ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.5 ในการศึกษาปลายเดือนมีนาคม ขึ้นมาเป็นร้อยละ 23.9 ในการศึกษาล่าสุด ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ พุ่งขึ้นมาจ่อความนิยมของประชาชนต่อพรรคภูมิใจไทย ในการศึกษาครั้งนี้จากร้อยละ 14.2 ในการศึกษาปลายเดือนมีนาคม ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 23.6 ในการศึกษาล่าสุด

แต่ที่น่าพิจารณาคือ ความนิยมของประชาชนต่อ พรรคพลังประชารัฐ ลดลงจากร้อยละ 10.9 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 9.3 มาอยู่ที่ ร้อยละ 3.7 แสดงให้เห็นว่า ปลาไม่กระโดดข้ามบ่อ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของ ผู้นิยมพรรคร่วมรัฐบาลยังสูงกว่า สัดส่วนของ ผู้นิยมพรรคร่วมฝ่ายค้าน และอื่นๆ คือร้อยละ 59.8 ต่อร้อยละ 40.2

คาด ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อสอบถามถึงพรรคการเมืองที่ต้องการเห็นร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 34.0 ระบุ ภูมิใจไทย กับ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และอื่นๆ รองลงมาคือ ร้อยละ 29.4 ระบุ พรรคก้าวไกล กับ เพื่อไทย และอื่นๆ ร้อยละ 13.4 ระบุ ภูมิใจไทย กับ เพื่อไทย และอื่นๆ และร้อยละ 5.6 ระบุ พรรคเพื่อไทย กับ พลังประชารัฐ และอื่นๆ ตามลำดับ

การยุบพรรคอาจเกิดขึ้นได้ แต่แลนด์สไลด์จะตามมา เพราะโดนใจและสะใจ 

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า เมื่อปลาไม่โดดข้ามบ่อ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลบางพรรคอาจใช้เครือข่ายอำนาจในมือเปลี่ยนเกมโดยมุ่งโจมตียุบพรรคในบ่อปลาเดียวกัน เพื่อให้ฝูงปลาที่ไม่โดดข้ามบ่อมาเลือกพรรคที่เหลืออยู่ มุ่งเป็นรัฐบาลและได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ตั้งไว้ ถ้าทำลายกันเองในพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นจริง ผลที่อาจเกิดขึ้นได้ตามมาคือ ฝูงปลาอาจถูกบังคับให้กระโดดข้ามบ่อไปสู่แลนด์สไลด์โดยพรรคก้าวไกล ถึงขั้นปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะพรรคก้าวไกลกำลังทำอะไรที่โดนใจและสะใจ ก็เป็นไปได้ในทางสถิติ และอะไรจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการเปลี่ยนประเทศไทย ค่อยว่ากัน

แต่ถ้าไม่มีใครเปลี่ยนเกมและไม่เกิดการโกงการเลือกตั้ง ปล่อยให้เป็นไปตามความนิยมศรัทธาของประชาชนที่อิสระและการรณรงค์เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปลอดการแทรกแซงเบี่ยงเบนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนด้วยการเปลี่ยนเกมแย่งชิงอำนาจนี้ พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลในเวลานี้น่าจะเห็นความโดดเด่นเปลี่ยนผ่านมาอยู่ที่ พรรคภูมิใจไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ โดยมีฐานสนับสนุนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เป็นกำลังสำคัญให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อได้.