เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 23 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานผลการสำรวจโพลออนไลน์ชี้อนาคตการเมืองไทย “เดลินิวส์ X มติชนโพลเลือกตั้ง ’66 รอบที่สอง” ระหว่างวันที่ 22-28 เม.ย.นี้ ว่า ถือว่าเป็นการโหวตวันที่สอง ซึ่งยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศ พบสถิติยอดผู้กดโหวต เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 รอบที่สอง ซึ่งยอดอยู่ที่ 29,258 ราย โดยผ่านวิธีการโหวตออนไลน์แบบไม่ซ้ำไอพีแอดเดรส (IP Address) ขณะที่อัตราการเข้าถึง หรือยอดรีช (Reach) ตัวโปรโมตคอนเทนต์เชิญร่วมทำโพลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย วันที่ 2 พุ่งทะยานไปถึง 2.6 แสนรีช

โดยการโหวตรอบสอง มีคำถาม 4 หัวข้อ เพื่อสอบถามความความเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ กล่าวคือ “ข้อที่ 1” ท่านจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 นี้, “ข้อ 2” ท่านจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) พรรคใด โดยทั้งสองข้อแรกดังกล่าวคำตอบจะมีให้เลือกเป็นการคัดรายชื่อจาก 10 พรรคการเมืองที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรกจากผลโพลรอบแรก, “ข้อ 3” ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี และคำตอบจะมีให้เลือกเป็นการคัดรายชื่อจาก 10 แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรกจากโพลรอบแรก ปิดท้ายด้วยคำถาม และ “ข้อ 4” ส.ว. ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดหรือไม่

ทั้งนี้ ประชาชนและผู้สนใจร่วมโหวตโพลสะท้อนอนาคตการเมืองไทยครั้งประวัติศาสตร์ สามารถเข้าร่วมโหวตได้ผ่านลิงก์เว็บไซต์เดลินิวส์ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll ตั้งแต่ วันที่ 22-28 เม.ย. 66 รวมทั้งสื่อเครือมติชน อาทิ มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี ฯลฯ นอกจากโปรโมตเผยแพร่ช่องทางการเข้าไปทำโพลเอาไว้ให้กับประชาชนผ่านทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ และโซเชียลมีเดียแล้วยังได้จัดทำ “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนร่วมโหวตได้ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และสื่อเครือมติชนโดยเฉพาะอีกด้วย

ขณะเดียวกัน บรรยากาศในส่วนภูมิภาค มีประชาชนที่ร่วมกิจกรรมโหวตโพลออนไลน์ชี้อนาคตการเมืองไทย “เดลินิวส์ X มติชนโพลเลือกตั้ง ’66 รอบที่สอง ออกมาให้ทรรศนะอย่างกว้างขวาง อาทิ บรรดาคอพืชกระท่อมที่รวมตัวกันตามร้านน้ำชา-กาแฟ และจุดรวมตัวในแต่ละหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ต่างกระตือรือร้นให้ความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็นว่าจะเลือกผู้สมัครและพรรคใด เพราะแต่ละพรรคเสนอแนวนโยบายที่แตกต่างกันในการแก้ปัญหาให้ประชาชน อาทิ นายเสริม เพชรแก้ว กล่าวว่า แม้ในพื้นที่จะมีพรรคการเมืองเสนอตัวมากถึง 19 พรรค แต่มีพรรคที่เป็นกระแสเพียง 4-5 พรรคเท่านั้น ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนตัวยังไม่ได้ตัดสินใจสำหรับกลุ่มคอพืชกระท่อมและสภากาแฟ อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป แต่เท่าที่ทราบเข้าใจว่าส่วนใหญ่จะเลือกทั้งคนและพรรคเดียวกัน

ด้าน นายปรีชา ชูสุข ช่างเหล็ก กล่าวว่า คิดว่าในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น ไม่ควรเข้ามามีบทบาทหน้าที่ หรือมามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ควรใช้หลักคิดว่าพรรคไหนได้เสียง ส.ส.จำนวนมากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้ง 500 คน เป็นผู้เลือกนายกฯ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่รัฐธรรมนูญปี 60 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ทั้งที่บุคคลากรเหล่านั้นไม่ได้ยึดโยง หรือมาจากการเลือกของประชาชนเลย จึงอยากให้นักการเมืองใช้ฉันทามติของประชาชนเป็นหลักในการตัดสินใจเลือกนายกฯ

ขณะที่ นายณรงค์ คงสีดำ สมาชิกชมรมคนทำความดีสันติสุข เทศบาลนครนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ตนจะเลือก ส.ส.เขตจากพรรคหนึ่ง และเลือกปาร์ตี้ลิสต์จากนโยบายที่ขับเคลื่อนประเทศได้จริง โดยสิ่งที่อยากให้ทำมากที่สุดคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเป็นอันดับแรก เพราะทุกวันนี้ประชาชนระดับรากหญ้าเดือดร้อนมากจากสารพันปัญหา

ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาคนรุ่นใหม่ต่างให้ความสนใจการเมือง และร่วมกันโหวตโพลเดลินิวส์-เครือมติชน อย่างคึกคัก โดย น.ส.อภิชญาฎา เพชรรัตน์ สื่อมวลชน กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วมีความสนใจการเมืองและติดตามข่าวมาโดย มองว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นทุกคนจำเป็นที่จะต้องเลือกคน ที่ใช้ความรู้ความสามารถและความดีให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ตนเป็นห่วงในฐานะสื่อมวลชนคือการหาเสียงด้วยโครงการประชานิยม เพราะเชื่อว่าจะส่งผลเสียในอนาคตแน่ จึงขอเชิญชวนทุกคนให้ทุกคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของตนเอง เพราะเราคือผู้กำหนดทิศทางของประเทศ

ในขณะที่ น.ส.จันทิมา ประสมแก้ว เจ้าของบริษัทออแกไนซ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการออกแบบสำรวจ ความนิยมนักการเมืองของสองสื่อใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำโพลแบบไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งจะสามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริง หากเดลินิวส์จะมีการทำแบบสำรวจครั้งต่อไป อยากจะให้มีการถามความคิดเห็นว่าจะออกไปเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่

ที่ จ.อุทัยธานี น.ส.ปาลิดา กำเนิดเวช พนักงานบัญชีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า โพลของสองสื่อใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่มากๆ เพราะจะช่วยให้ทราบข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำมามาใช้ในการตัดสินใจ ส่วนตัวมองว่าหลังการเลือกตั้งในครั้งนี้น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพราะประชาชนอยากได้ผู้นำที่มีความคิดกว้างไกลเข้ามาบริหารพัฒนาประเทศ และเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม มีความกังวลอยู่บ้างว่าเกรงจะได้คนเดิมกลับมาบริหารประเทศอีก โดยเฉพาะบรรดากลุ่มผู้สูงอายุที่น่าจะมีเปอร์เซ็นต์สูงเลือกคนเก่า เพียงเพราะต้องการสวัสดิการต่างๆ เท่านั้น ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องการอะไร เพราะคนรุ่นใหม่ที่ความคิดก้าวไกล ซึ่งอาจจะช่วยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยและประเทศให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ในขณะที่ นายธนเดช แตงเผือก อายุ 59 ปี อาชีพช่างตัดผม ใน ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ติดตามอ่านข่าวจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะเดลินิวส์ จึงทำให้ทราบข้อมูลต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ซึ่งส่วนตัวอยากได้นายกรัฐมนตรี และพรรคการเมือง รวมถึงตัว ส.ส.ที่มีความจริงใจในการเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านอย่างจริงจัง ใครก็ได้จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ขอให้เป็นคนดีด้วย นำพาประเทศไทยให้พัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มสวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นโดยเฉพาะสวัสดิการของผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อช่วยลดภาระของแต่ละครอบครัวให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อนจนเกินไป.