ถึงช่วงเวลาที่ชาวไทยต่างรอคอย สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ในปีนี้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้เอง ทาง “iLaw” ได้ออกมาเชิญชวนประชาชนจับตาผลการนับคะแนนในพื้นที่ 25 เขตวิกฤติทั่วไทย ผ่านแฟนเพจ ระบุว่า “นอกจากทุกหน่วยเลือกตั้งที่เราชวนทุกคนไปจับตาการนับคะแนนและรายงานผลแล้ว ยังมีพื้นที่ 25 เขตวิกฤติ ที่ iLaw กำหนดขึ้น เพื่อชวนให้ใครก็ได้ที่เดินทางไปจับตาจุดเหล่านี้ ไปช่วยดูกันหน่อย”

โดย iLaw ใช้ข้อมูล 3 ส่วนประกอบกัน คือ
1)ผลการเลือกตั้งปี 2562 สูสี ผู้ชนะได้คะแนนห่างจากอันดับสอง ไม่ถึง 5%
2)ผู้สมัครในเขตนั้นมีลักษณะ “บ้านใหญ่” ที่ครองพื้นที่ยาวนาน หรือมีการย้ายพรรคสลับขั้ว อันเป็นแรงจูงใจของการใช้อิทธิพลพิเศษ
3)มีประวัติของความผิดปกติ เช่น มีการปรับลดคะแนนผู้สมัครที่ควรจะชนะ มีการร้องเรียนการนับคะแนนผิด มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้สมัคร ฯลฯ

ผลปรากฏว่า มีเขตที่คะแนนสูสีมากถึง 104 เขต และเป็นเขตที่มีลักษณะ 2) หรือ 3) ด้วยมากถึง 40 เขต แต่เนื่องจากการเลือกตั้งรอบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งใหม่ เราเลยกำหนดเขตวิกฤติใหม่ โดยอาศัยสองปัจจัย คือ
a)ถ้ามีการตัดอำเภอทั้งอำเภอออกจากเขตใหม่ ก็จะเลิกนับเป็นเขตวิกฤติ
b)ถ้าเขตเลือกตั้งเดิมถูกแตกกระจายตัวออกไปหลายรูปแบบ จนไม่เหลือลักษณะพื้นที่เดิม ก็จะเลิกนับเป็นเขตวิกฤติ

ด้วยปัจจัยข้างต้น จะเหลือเขตวิกฤติที่ควรจับตา 25 เขต ดังนี้
1.กรุงเทพมหานคร เขต 4 (เขตคลองเตย เขตวัฒนา)
2.กรุงเทพมหานคร เขต 21 (เขตประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอน) เขตสะพานสูง (เฉพาะแขวงทับช้าง))
3.จันทบุรี เขต 1 (อ.เมืองจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์)
4.จันทบุรี เขต 2 (อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม อ.แก่งหางแมว อ.เขาคิชฌกูฏ)
5.ชลบุรี เขต 5 (อ.พนัสนิคม อ.เกาะจันทร์)

6.ชลบุรี เขต 8 (อ.บางละมุง (ยกเว้นตำบลหนองปรือ))
7.เชียงราย เขต 1 (อ.เมืองเชียงราย (ยกเว้นตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด ตำบลดอยลาน และตำบลห้วยสัก))
8.ตาก เขต 3 (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอบ้านตาก (ยกเว้นตำบลแม่สลิด ตำบลตากออก และตำบลสมอโคน) และอำเภอแม่สอด (เฉพาะตำบลแม่กาษา ตำบลแม่ปะ และตำบลท่าสายลวด))
9.นครราชสีมา เขต 1 (อำเภอเมืองนครราชสีมา (เฉพาะตำบลในเมือง ตำบลหนองไผ่ล้อม และตำบลโพธิ์กลาง))
10.นครสวรรค์ เขต 6 (อำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบง)

11.ปทุมธานี เขต 3 (อำเภอคลองหลวง [เฉพาะตำบลคลองสาม ตำบลคลองสอง (ในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง) และตำบลคลองหนึ่ง (ในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง))
12.ปัตตานี เขต 1 (อำเภอเมืองปัตตานี)
13.พิจิตร เขต 1 (อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอสามง่าม และอำเภอวชิรบารมี)
14.พิจิตร เขต 3 (อำเภอบางมูลนาก อำเภอโพทะเล อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพธิ์ประทับช้าง)
15.พิษณุโลก เขต 3 (อำเภอวังทองและอำเภอเนินมะปราง)

16.พิษณุโลก เขต 5 (อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไทย)
17.ยะลา เขต 1 (อำเภอเมืองยะลา (ยกเว้นตำบลเปาะเส้ง ตำบลบันนังสาเรง และตำบลบุดี) และอำเภอยะหา (เฉพาะตำบลตาชี ตำบลยะหา และตำบลบาโงยซิแน))
18.ราชบุรี เขต 4 (อำเภอบ้านโป่ง)
19.ลพบุรี เขต 1 (อำเภอเมืองลพบุรี (เฉพาะตำบลท่าหิน ตำบลทะเลชุบศร ตำบลเขาสามยอด ตำบลถนนใหญ่ ตำบลท่าแค ตำบลโคกกะเทียม ตำบลบางขันหมาก ตำบลพรหมมาสตร์ ตำบลโพธิ์เก้าต้น ตำบลโคกลำพาน ตำบลป่าตาล และตำบลกกโก))
20.ศรีสะเกษ เขต 4 (อำเภอกันทรลักษ์ (ยกเว้นตำบลจานใหญ่ ตำบลตระกาจ ตำบลภูเงิน และตำบลกระแชง))

21.สงขลา เขต 4 (อำเภอระโนด, อำเภอกระแสสินธุ์, อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร (เฉพาะตำบลบางเขียด ตำบลม่วงงาม ตำบลวัดขนุน ตำบลรำแดง และตำบลชะแล้))
22.สมุทรปราการ เขต 8 (อำเภอบางบ่อและอำเภอบางเสาธง (ยกเว้นตำบลศีรษะจรเข้น้อย))
23.สมุทรสงคราม เขต 1 ทั้งจังหวัด
24.สมุทรสาคร เขต 3 (อำเภอบ้านแพ้ว อำเภอกระทุ่มแบน (เฉพาะตำบลหนองนกไข่ ตำบลบางยางและตำบลท่าเสา) และอำเภอเมืองสมุทรสาคร (เฉพาะตำบลบ้านเกาะ ตำบลชัยมงคล ตำบลบางกระเจ้า ตำบลท่าจีน ตำบลบ้านบ่อ ตำบลบางโทรัด ตำบลกาหลง และตำบลนาโคก))
25.อุบลราชธานี เขต 6 (อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล และอำเภอโพธิ์ไทร)

ใครอยู่ใกล้จุดไหน ขอความร่วมมือไปจับตาการนับคะแนนที่หน้าหน่วยหลังปิดหีบ ถ่ายภาพกระดานนับคะแนนที่นับเสร็จแล้ว แล้วส่งมาที่ vote62.com กัน

ทั้งนี้ ทาง iLaw ได้ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า “ข้อมูลเหล่านี้เป็นการคัดเลือกจากข้อมูลเชิงสถิติและการแบ่งเขตเท่านั้น” หากคนในพื้นที่มีข้อมูลว่าเขตนั้นวิกฤติจริงๆ หรือไม่ได้วิกฤติอะไรแล้ว ก็สามารถช่วยเพิ่มเติมข้อมูลให้สมบูรณ์ได้ เช่น ปี 66 บ้านใหญ่ถอนตัวจากเขตนั้นไม่ลงสมัครแล้ว หรือปี 66 คะแนนนิยมของผู้สมัครบางคนชัดเจน น่าจะแลนด์สไลด์ได้ไม่น่าเป็นห่วง..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @iLaw