หลังจาก “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแถลงชัยชนะของผลการเลือกตั้ง 2566 พร้อมประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลกับ 5 พรรค โดยมี พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม ร่วมฝ่ายค้านเดิม รวม 313 ที่นั่งแล้ว พร้อมยืนยันจะปิดสวิตช์ ส.ว. ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

โดยสำหรับท่าทีของ ส.ว. ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนพร้อมโหวตให้ “ทิม พิธา” เป็นนายกมนตรีนั้นซึ่งจะมีใครบ้าง วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้รวบรวมรายชื่อมาให้ ซึ่งขณะนี้มีแล้ว 13 คน โดยจะมีใครบ้างที่พร้อมโหวตเห็นชอบ ปิดสวิตซ์ตัวเอง และงดออกเสียงดังนี้

ทั้งนี้เมื่อมาดูวิวาทะ ส.ว.ที่ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน จะเห็นได้ชัดจาด 1.ส.ว.วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า “การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พฤษภาคม ลุล่วงไปด้วยดี โดยมีประชาชนทุกช่วงวัยไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนมากเป็นประวัติการณ์ นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นใจอย่างยิ่ง ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ บ่งขี้ว่าพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด และมีผู้สมัครได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตามครรลองแห่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย

พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรค หรือผู้มีรายชื่อเป็นแคนติเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มี จำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมมีความเหมาะสะที่สุดที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ผมในฐานะ ส.ว. เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานสำคัญ รับใช้ชาติบ้านเมืองมาตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการ เคยต้องขมขื่นกับความแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมือง ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมณ์ ภายใต้สิทธิ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สนับสนุนให้แคนติเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมือง ที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี”

2.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “สานพลังสร้างไทย” ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว จากนี้ไป ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่าย จะดีกว่าประเทศไทยถึงจะไปต่อได้ ส.ว.อำพล

3.ภัทรา วรามิตร ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพมติของประชาชน ขอประกาศจุดยืนสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

4.ทรงเดช เสมอคำ โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยเปิดเผยว่า สามารถเจรจาท่าน ส.ว.ทรงเดช เสมอคำ ซึ่งท่าน ส.ว.ทรงเดช เคยออกมายืนยันว่า พร้อมที่จะสนับสนุนพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชน

5.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เคยระบุว่า ผมว่าผมชัดเจนมาโดยตลอดนะครับ ใครรวมได้เสียงข้างมากเกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาล ไม่มีใครขวางได้หรอกครับ เพราะครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้เป็นนายกฯ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ รวมเสียงได้เกิน 250 เสียง คราวนี้ก็ยึดหลักการเดียวกัน

6.วันชัย สอนศิริ ออกมาโพสต์ล่าสุดเมื่อวานนี้ 17 พ.ค. 66 ระบุว่า “จุดยืนไม่เปลี่ยน ขอทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าสิ่งที่โซเชียลเอาไปปะติดปะต่อ จับแพะชนแกะ เหมือนกับผมพูดให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านนั้น แล้วก็เอาคำพูดบางตอนมาตัดต่อขยายความกันไปสารพัด พูดมันปากกันไปเรื่อยเปื่อย ขอยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง เพราะกว่าจะมาถึงข้อความนั้นมันเป็นคำอธิบายว่า ถ้าโหวตแล้ว พรรคก้าวไกล ได้เป็นรัฐบาล ก็เป็นไปตามที่เสียงส่วนใหญ่โหวตให้ แต่ถ้าโหวตแล้วไม่ผ่าน ไม่ได้เป็น ก็ต้องให้คนอื่นเขาจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

พรรคก้าวไกลก็ไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญตามหลักการปกติ เป็นคำอธิบายในหลักการทั่วๆ ไป ไม่ได้ไล่ให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ใส่สีตีไข่ไปกันใหญ่ แล้วการตัดต่อเสียงก็ไม่ได้ตัดมาให้ครบถ้วนมาตั้งแต่ต้น คนก็ไปฟังบางส่วนบางตอนเลยเข้าใจผิดกันไปใหญ่

โดยส่วนตัวของผมยืนยันว่า ใครรวมเสียง ส.ส.ได้ข้างมากก็โหวตให้คนนั้น เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงครับ จบแล้วต่อแต่นี้ขอนั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนาเพื่อความสงบร่มเย็น ณ วัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน มากราบหลวงพ่อสัมฤทธิ์ประสิทธิโชค กันนะครับ สาธุ

7.เฉลิมชัย เฟื่องคอน เคยยืนยันว่า พร้อมโหวตให้พิธา หากรวมเสียงมาเกินครึ่งของ ส.ส. 500 คน พร้อมโหวตให้

8.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล เคยระบุว่า ตามหลักการก็ควรให้พรรคการเมืองที่ได้อันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน ส่วนตนเคารพเสียงของประชาชน เมื่อพรรคก้าวไกลของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 หรือจัดตั้งเกินครึ่งของ ส.ส. ก็พร้อมยกมือให้ ไม่มีปัญหา ส่วนตนสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาระบบของรัฐสภาเอาไว้

9.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เคยยืนยันว่า รับฟังเสียงประชาชนแน่นอน และพร้อมโหวตสนับสนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่มาจาก ส.ส.ที่รวมกันได้มากกว่า 250 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยให้ยั่งยืนต่อไป

10.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล เคยระบุว่า แคนดิเดตนายกฯ ซึ่งปกติจะไม่เสนอชื่อคนเดียว แต่ถ้ามีคนเดียวแล้วเสนอ พิธา ก็ไม่ได้น่ารังเกียจ เพราะมาจากมติมหาชน ส.ส.เขตก็ได้มาก และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้เยอะ รวมกันแล้วได้อันดับ 1 ก็มีสิทธิอันชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งองค์ประกอบที่จะพิจารณาพรรคร่วมมีใครบ้าง นโยบายเป็นอย่างไร ตรงนั้นน่าสนใจกว่า

11.ประมาณ สว่างญาติ เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่คัดค้านใครจะมาเป็นนายกฯ ขอให้เป็นไปตามมติของประชาชน ตนในฐานะเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเลือกจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน และมีความเชื่อมโยงจากประชาชน ส่วน ส.ว.ท่านอื่นก็ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างจิตใจ แต่ตัวเองอยากให้ไปทางที่ไม่ขัดแย้ง ยิ่งมีมติประชาชนนำมาแล้ว ก็ควรที่จะไปทางนั้นมากกว่า

12.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ผลการเลือกตั้งยืนยันชัยชนะของพรรคก้าวไกล ขั้วพรรคฝ่ายค้านเดิม US และ EU โดยเฉพาะ กทม.ที่พรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งถึง 32 ใน 33 เขต รวมถึงจังหวัดปริมณฑลที่ชนะยกจังหวัดอีกหลายแห่ง และคะแนนบัตรสีเขียวที่มากมายถึงกว่า 14 ล้านเสียง

13.ประภาศรี สุฉันทบุตร โพสต์ประกาศจุดยืนเคารพเสียงของประชาชน พร้อมยกมือโหวตเห็นชอบให้ “พิธา” นั่งเก้าอีนายกรัฐมนตรี

รอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ กกต.จะประกาศรับรองภายใน 60 วัน ซึ่งภายใน 15 วันหลัง กกต.ประกาศรับรองผล ส.ส. 95% แล้ว รัฐธรรมนูญ 60 กำหนดให้ต้องเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อปฏิญาณตน แล้วให้สภาผู้แทนฯ เลือกประธานที่ทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาด้วย

สำหรับ ส.ว. งดออกเสียงมีดังนี้
1.พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์
2.พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์
3.พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้
4.พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์
5.พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ
6.พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์
7.พ.ญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์
8.นายเสรี สุวรรณภานนท์
9.นายพรเพชร วิชิตชลชัย
10.นายมณเฑียร บุญตัน

และ ส.ว. ผู้ไม่เห็นชอบมีดังนี้
1.นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
2.นายจเด็จ อินสว่าง
3.สมชาย แสวงการ