จากกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสี่ วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ขัดรัฐธรรมนูญ? มติ8:1 ตีตกขอขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า คงมีหลายประเด็นที่ควรจะต้องพูดถึง ซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ เป็น โมฆะ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ จึงเป็นเหตุทำให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ตนจึงอยากถามว่า รัฐบาลรักษาการ ในขณะนี้ จะแสดงความรับผิดชอบ ต่อกรณีนี้อย่างไร ซึ่งโดยปกติที่ผ่านมานั้น โดยมารยาททางการเมือง กฎหมายที่รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด และรัฐสภาไม่รับร่าง หรือไม่ออกเป็นกฎหมายให้ส่วนใหญ่ คณะรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง โดยมารยาท

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ต่อมารัฐบาลรักษาการ และ หน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งออกมาแสดงความรับผิดชอบ และขอโทษต่อประชาชน ในการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ผิดพลาด โดยเฉพาะการเยียวยาประชาชนที่เสียประโยชน์ หาก พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 การไม่ได้รับความเป็นธรรม ตามกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการดำเนินการในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่แต่เดิม รัฐบาลเอง แจ้งว่า จะมีความพร้อมในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 แต่ในขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชัดแล้วว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลรักษาการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรจะต้องเร่งและดำเนินการสั่งการในแผนทั้งหมด ที่จะนำมาใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 มาดำเนินการปฏิบัติในทันที ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 อย่างไร

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องความพร้อมในการจัดหากล้อง สำหรับบันทึกวิดีโอ ตนมองว่า ในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการจัดหาได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ตนมองว่า ในปัจจุบัน กล้องบันทึกวิดีโอต่างๆ มีราคาที่ไม่แพงมาก และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปหาซื้อกล้องที่มีราคาแพง หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะตามสถานีตำรวจต่างๆ สามารถจัดหาได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการเร่งมอบ นโยบายจากรัฐบาล และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเร่งสั่งการด่วน ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการอยู่ ปฏิบัติอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการบังคับใช้ และให้การคุ้มครองทั้งตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไป ทั้งจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนจะดีขึ้นมีความเชื่อใจกันมากขึ้น” นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย