ในบทความใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ Scince.org โดยทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เผยว่า พวกเขาค้นพบภาพจากแผ่นดินเหนียวและวัตถุโบราณอื่น ๆ อีกหลายชิ้นจากยุคเมโสโปเตเมียตอนต้น ที่บ่งชี้ว่า มนุษย์ยุคโบราณก็รู้จักการจุมพิตกันอย่างดูดดื่มและโรแมนติกแล้ว

ดินแดนในยุคโบราณของชาวเมโสโปเตเมียนั้น เทียบเคียงกับดินแดนในปัจจุบันได้ว่า อยู่ในประเทศอิรักและซีเรีย

ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า มนุษย์รู้จักการจูบในลักษณะดังกล่าว เมื่อราว 3,500 ปีก่อน โดยอาศัยหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีจากเอเชียใต้ แล้วจึงเผยแพร่ออกไปสู่ดินแดนอื่น ๆ 

การค้นพบครั้งใหม่นี้ นับว่าท้าทายทฤษฎีแบบเดิมที่แสดงให้ความเป็นไปได้ว่า การจุมพิตอย่างดูดดื่มหรือมีนัยทางเพศนั้น เป็นการกระทำที่ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในหลายดินแดนและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้าหลักฐานเดิมถึง 1,000 ปี แสดงว่าพฤติกรรมจูบกันในเชิงโรแมนติกของมนุษย์ เกิดขึ้นมากกว่า 4,500 ปีมาแล้ว

ในการตรวจสอบแผ่นดินเหนียว ซึ่งมีบันทึกจารไว้เป็นตัวอักษรคูนิฟอร์ม นักวิจัยสังเกตเห็นว่า ในภาษาแอกแคด ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันในดินแดนเมโสโปเตเมียโบราณนั้น ได้แบ่งการจูบออกเป็นสองกลุ่ม คือแบบฉันเพื่อนและครอบครัว กับการจูบด้วยความเสน่หาทางเพศ

โทรเอลส์ พังค์ อาร์บอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของยารักษาโรคในเมโสโลเตเมีย และเป็นผู้ร่วมเขียนบทความครั้งนี้ กล่าวในแถลงการณ์ว่า แผ่นดินเหนียวหลายพันแผ่นที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจุมพิตในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรู้สึกโรแมนติกในยุคโบราณหลายชิ้น เช่นเดียวกับตัวอย่างการจูบ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรู้สึกรักกันฉันมิตรในกลุ่มเพื่อนและครอบครัว 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ควรมองว่า การจูบเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วจึงเผยแพร่ออกไปยังดินแดนอื่น ๆ แต่น่าจะเป็นพฤติกรรมที่ทำกันอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมโบราณของหลายชุมชน เป็นเวลายาวนานหลายพันปีมาแล้ว

แม้ว่าในตอนนี้ จะยังไม่สามารถระบุต้นกำเนิดที่แน่ชัดได้ว่า การจูบแบบโรแมนติกนั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็มีหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นไปได้ว่า พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นก่อนยุคที่มีการบันทึกไว้ด้วยซ้ำ

โซฟี ลุนด์ รัสมุสเซน ผู้ร่วมเขียนบทความนี้อีกคนหนึ่งชี้ว่า ความจริงแล้ว ในการศึกษาวิจัยกลุ่มลิงไม่มีหางอย่างลิงโบโนโบและชิมแปนซี ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด ก็พบว่าลิงทั้งสองสปีชีส์ มีพฤติกรรมจูบกัน ซึ่งอาจหมายถึงว่า การจูบนั้นเป็นพฤติกรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงพบพฤติกรรมเช่นนี้ในหลากหลายแหล่งวัฒนธรรม

แหล่งข่าว : businessinsider.com

เครดิตภาพ : Trustees of the British Museum/University of Copenhagen