ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ออกมาเคลื่อนไหวพูดประเด็นร้อน กรณีมีสมาชิก TikTok รายหนึ่ง โพสต์คลิปเจอตะขาบยักษ์ ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นเกิดข้อสงสัยกันมากมายว่า ตัวจริงหรือตัดต่อ เนื่องจากมีขนาดลำตัวใหญ่ผิดปกติ

โดยโพสต์ว่า คือถ้าดูจากรูปร่าง ลักษณะปล้อง จำนวนของขาเดินต่อปล้อง หนวดและเขี้ยวพิษ ก็ไม่ผิดแน่ ๆ ที่จะบอกว่ามันเป็นสัตว์กลุ่มตะขาบ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า centipede (เซนติปีด หมายถึง มี 100 ขา) ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และเป็นสัตว์ขาข้อ อยู่ในชั้น (class) ชิโลโปดา Chilopoda พบได้ในเขตร้อนชื้น อาศัยอยู่บนบก มีลำตัวแบนราบ มีปล้อง 15-100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ และเขี้ยวพิษ 1 คู่เชื่อมต่อกับต่อมพิษ เมื่อกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เหยื่อเจ็บปวดและเป็นอัมพาต (ซึ่งลักษณะทั้งหมดนี้ ตรงกับตัวที่อยู่ในคลิปข่าว)

แต่ถึงแม้ว่าพวกตะขาบนั้นจะมีหลายขนาด แต่ส่วนใหญ่ความยาวของลำตัว ของพวกมันจะอยู่ที่ประมาณ 3-8 เซนติเมตร โดยตะขาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือสปีชีส์ Scolopendra heros หรือ ตะขาบทะเลทรายยักษ์ (หรือตะขาบโซโนรันยักษ์ ตะขาบแดงเทกซัส และตะขาบแดงยักษ์) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของตะขาบในทวีปอเมริกาเหนือ พบทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโกตอนเหนือ โดยมีความยาว 20-25 เซนติเมตร

ดังนั้น ตะขาบที่เห็นในคลิปข่าว (ซึ่งไม่ชัดเจนว่าถ่ายจากที่ไหน ประเทศอะไร) จึงไม่น่าจะมีตัวยาวมากมายนัก ไม่ได้ยาวเป็นเมตรอะไร อย่างที่หลายคนดูคลิปนั้นแล้วเข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องของ “มุมกล้อง” หลอกตา

คือถ้าลองหมุนภาพ และก็ลดขนาดให้เหมาะสม ก็จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่ตะขาบยักษ์กำลังไต่อยู่ที่มุมประตูอย่างที่เข้าใจกัน แต่มันก็ตะขาบตัวขนาดปรกติ ที่เลื้อยอยู่ตรงขอบโต๊ะมากกว่าครับ

ส่วนว่ามันเป็นตะขาบชนิดไหน สปีชีส์ไหน คงต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ แต่เท่าที่ผมเช็กดู ชั้นชิโลโปดา (class Chilopoda) นั้้นแบ่งเป็นแบ่งเป็น 5 ลำดับ (order) คือ Scutigeromorpha (ลำดับของตะขาบบ้าน), Lithobiomorpha (ลำดับของตะขาบหิน), Craterostigmomorpha, Scolopendromorpha (ลำดับของตะขาบเขตร้อน) และ Geophilomorpha (ลำดับของตะขาบดิน)

ซึ่งเจ้าตัวที่อยู่ในคลิปวิดีโอดังกล่าวนั้น น่าจะจัดอยู่ในลำดับ Geophilomorpha หรือเป็นพวก ตะขาบดิน (soil centipede) เนื่องจากมีจำนวนปล้องค่อนข้างเยอะ ทรงผอมยาว แต่ความยาวจริงของมันก็ไม่ได้ยาวอะไรนะ ประมาณ 10 เซนติเมตร แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวในคลิป มันจะเป็นตะขาบดินสปีชีส์อะไรครับ

ขณะที่ตะขาบที่เราเห็นกันส่วนใหญ่ จะเป็นตะขาบบ้าน (house centipede) ซึ่งจำนวนปล้องน้อย ตัวอ้วน และความยาวจริง ก็ยาวพอๆ หรือมากกว่าตะขาบดินอีกครับ ส่วน “ตะบองพลำ” มันแค่สัตว์ในตำนานนะ มีคนสรุปไว้ว่า ถ้ามีจริงตามนั้น ตัวมันต้องยาว 12 เมตร (ซึ่งตะขาบยาวๆ พันธุ์ที่ยาวสุดในโลก ก็ไม่เกิน 30 เซนติเมตรครับ) ลองอ่านในนี้ดูครับ https://fishingthai.com/centipedes-in-thai-legends/

ซึ่งทางเพจ siamensis.org เคยให้ข้อมูลไว้เกี่ยวกับ Geophilomorpha ดังด้านล่างนี้ครับ อันดับ Geophilomorpha (soil centipedes) กลุ่มตะขาบที่มีจำนวนวงศ์มากที่สุดคือ 14 วงศ์ และมีจำนวนชนิดประมาณ 1,300 ชนิด (จากชนิดที่ได้รับตั้งชื่อแล้ว 1,700 ชนิด) ลักษณะเด่นของตะขาบอันดับนี้คือ มีปล้องขาที่เกือบจะเท่ากันและมีรูหายใจอยู่ที่ฐานขา ยกเว้นปล้องสุดท้าย มีจำนวนปล้องขามากกว่าตะขาบอันดับอื่น ๆ

จำนวนปล้องขาในตะขาบกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันในระดับชนิด เช่น ในชนิด Himantarium gabrielis (ไม่พบในประเทศไทย) จะมีปล้องขา 87-177 ปล้อง เมื่อฟักออกจากไข่แล้วปล้องขาจะไม่เพิ่มขึ้นอีก (epimorphosis) ตัวเมียมักมีจำนวนปล้องมากกว่าตัวผู้

ตะขาบกลุ่มนี้ทุกชนิดจะตาบอด สมองทั้งสามพูแยกออกจากกันไม่ชัดเจนนัก จำนวนปล้องหนวดมีอยู่ 14 ปล้องเท่านั้น แผ่นแข็งเหนือลำตัว (tergites) แยกเป็นสองส่วนคือ ส่วนด้านหน้า (prominent pretergites) ที่มีขนาดเล็กกว่า และส่วนหลัง (metatergites) ทั้งสองส่วนนี้ จะมีมัดกล้ามเนื้อควบคุมแยกออกจากกัน ซึ่งเชื่อมโยงกับนิสัยการขุดโพรงของตะขาบกลุ่มนี้

ข้อมูลเรื่องตะขาบ จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Centipede และ http://www.siamensis.org/species_index?nid=2217…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์