เรียกได้ว่ากำลังกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวไวรัลที่ชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจ และพากันแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก เมื่อสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความลงกลุ่ม แม่แฝกใหม่ เฮาฮักกั๋น พร้อมกับภาพที่มีบาดแผลพุพองเป็นหนอง ภายในหนองนั้นมีเลือดคั่ง รอบบริเวณเป็นสีดำ และระบุว่า “เตือนกันนะครับ เฝ้าระวังลูกๆ หลานๆ ตวยเน้อช่วงนี้ มันนักนา กิ้งกือมีพิษเน้อครับ”

นอกจากนี้เพจเฟซบุ๊กชื่อดังอย่าง Drama-addict นั้น ก็ได้ออกมาแชร์เรื่องราวดังกล่าวด้วย พร้อมกับระบุข้อความว่า “กิ้งกือ ปกติจะมีพิษเล็กน้อย ไว้ป้องกันตัว โดยกิ้งกือจะไม่กัด แต่มีต่อมพิษ ปล่อยสารพิษออกมา ถ้าไปโดนจะทำให้ระคายเคือง ปวดแสบผิว และอาจมีตุ่มน้ำขึ้น ถ้ามีอาการไปพบแพทย์รักษา”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปเป็นสาธารณะ ต่างก็มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ได้เคยออกมาเตือนเกี่ยวกับเรื่องของ “กิ้งกือ” ที่ไม่กัดแต่มีพิษ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 63 โดยระบุว่า “นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ช่วงที่มีฝนตกบ่อย อาจพบเห็นกิ้งกือในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ จึงขอให้คำแนะนำแก่ประชาชนว่ากิ้งกือไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่มีพิษหากสัมผัสถูกตัว สารพิษของกิ้งกือจะถูกปล่อยออกมาจากบริเวณข้างลำตัว มีฤทธิ์ฆ่าสัตว์เล็กๆ เช่น มด แมลง และหากคนสัมผัสจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง หรือทำให้ตาระคายเคืองในกรณีถูกพิษกิ้งกือเข้าตา

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิ้งกือบางสายพันธุ์เท่านั้น ที่จะมีต่อมพิษอยู่ตลอดสองข้างลำตัว สามารถฉีดสารพิษพุ่งออกไปได้ไกล สารพิษมีลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควินิน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย ทั้งนี้ หากถูกพิษของกิ้งกือ ให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น”..

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : หนานกานต์ สงกรานต์ แสงกาบแก้ว, กรมการแพทย์