เริ่มจาก ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ออกมาวิเคราะห์เปิดประเด็น ว่า ตราบใดที่การตัดสินเรื่องคุณสมบัติ หรืออะไรต่างๆ ยังไม่ถึงที่สุด “พิธา” ก็มีความชอบธรรมเต็มร้อยที่จะได้เป็นนายกฯ เพราะพรรคก้าวไกลได้คะแนนมาเป็นที่หนึ่ง ได้ที่นั่งมากที่สุด สามารถรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ 312 เสียง จาก 8 พรรคการเมือง เป็นความชอบธรรมทางการเมืองและทางกฎหมาย แต่ต้องรอขั้นต่อไป คือ ให้ กกต. รับรองเป็น ส.ส. ก่อน

แล้วคนที่มาร้องเรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ก็มาร้องอีกครั้ง และถึงแม้ได้รับโหวตเป็นนายกฯ ก็จะมีคนมาร้องเรื่องคุณสมบัตินายกฯ อีกเช่นกัน เพราะเป็นคุณสมบัติเหมือนกัน ดังนั้น ส่วนนี้จึงมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว. ที่จะไม่โหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ  

“ในมุมความรู้สึกของคนที่เชียร์ “พิธา” และก้าวไกล ก็จะรู้สึกว่า ส.ว. มีความคิดทางการเมืองคนละขั้วกัน ฉะนั้นต่อให้ไม่มีเรื่องของคุณสมบัติ วันโหวตนายกฯ กองเชียร์ก็จะมีการเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่ง บางส่วนอาจไปรอฟังที่หน้ารัฐสภา หรืออาจติดตามผลที่บ้าน แต่หากผลออกมาไม่เป็นที่พอใจ ก็อาจการแสดงออกอะไรบางอย่าง”

ส่วน เพื่อไทย วันนี้ ก็ไม่ได้อยากชิงกันจัดตั้ง รัฐบาล เพราะหากทำอะไรที่ผิดไปจากมารยาท ฐานเสียงก็จะสวิงไปหา ก้าวไกล จึงต้องรอจนถึงขั้นที่จำเป็น เช่น ปัญหาในข้อกฎหมายเรื่องของคุณสมบัติ หาก “พิธา” หมดโอกาสแล้วให้ เพื่อไทย ขึ้นไปแทน เช่น ส.ว. ไม่เอา ก็อาจมาคุยกันใหม่ โดยหาเสียง ส.ส. พรรคอื่นที่คุยกันรู้เรื่องมาเติมเต็ม โดยไม่ต้องง้อ ส.ว. เพราะถ้าใช้สูตรโหวตไปเรื่อยๆ รอจน ส.ว. หมดวาระเดือน พ.ค. 2567 มีรัฐบาลรักษาการยาว แม้ไม่เป็นสุญญากาศ แต่การบริหารทำได้ไม่เต็มที่ อาจเป็นเหตุผลให้ เพื่อไทย ขึ้นมาได้ เพราะเมื่อพยายามจับมือกับ ก้าวไกล จนถึงที่สุดแล้ว แต่มันไปไม่ได้ ถ้ายื้อต่อจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย จึงต้องยอมแยกทางกับ ก้าวไกล ก็จะพอรักษาความรู้สึกของคน ที่แชร์คะแนนกันอยู่ระหว่าง เพื่อไทย และ ก้าวไกล

ซึ่งกลุ่มที่ตั้งความหวังกับก้าวไกลไว้มากอาจจะไม่เข้าใจ แต่ก็จะมีคนที่ทำใจได้ ส่วนคนที่ทนไม่ได้เลย อาจจะออกมาเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น ลงถนน ส่วนจะร้อนแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับหน้าตาของรัฐบาล ว่า เป็นอย่างไร คนรับได้แบบไหน ประสิทธิภาพในการทำงาน มีปัญหาหรือไม่ หากเป็นหน้าเดิม เพิ่มเติม คือ เพื่อไทย อาจจะทำให้ถูกมองว่าเป็นการวางแผนกันมาก่อน ทำให้คนไม่พอใจตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถูกปลุกอารมณ์ให้ออกมาคัดค้าน

สำหรับเรื่องหุ้น “พิธา” ถ้าเอาตามกฎหมายก็ให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน เหมือน “ธนาธร” ก็ต้องโดนอยู่แล้ว แต่ด้วยความเป็น ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ฟัน แต่ให้ไปต่อ ก็ทำได้เหมือนกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” บกพร่องโดยสุจริต หรือหากศาลคิดว่าควรจะลดกระแสสังคม ความขัดแย้ง ก็ให้ “พิธา” ไปต่อ

“ถ้าเอาข้อกฎหมายมาฟันกันดื้อๆ ก็ตายอยู่แล้ว ดีที่สุด คือ ขอให้ยึดหลักความชอบธรรมทางการเมืองดีที่สุด หลักเสียงข้างมากของประชาชนคำนึงถึงเจตนารมณ์ของการเลือกของประชาชน ใครมีความชอบธรรมก็ให้เขาตั้งรัฐบาล เอาแบบนี้ เอาตรงๆ ไม่ต้องบิด เพราะเราบิดเบี้ยวกันมาเยอะแล้ว”

ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ระบุว่า ดูสภาวะการก่อนเลือกตั้ง เละเชื่อมโยงมาหลังการเลือกตั้ง มีทั้งบวกและลบ ที่นำไปสู่สถานการณ์ที่ 1. แย่ที่สุดได้ คือ คนลงถนน ท้ายที่สุดก็จะมีการเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยและรัฐประหาร แต่ความเป็นไปได้ต่ำ 2. แง่ดีที่สุด คือ ได้นายกฯ ยังไม่ต้องมองว่าเป็นใคร จากพรรคไหน มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ จะถูกใจหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องแต่ต้องทำความเข้าใจ 4 เรื่องร่วมกันก่อนคือ 1. เรามีธรรมนูญและกฎหมายประกอบอื่นๆ มีกติกามายาทว่า เลือกตั้งเสร็จให้เวลา กกต. 60 วัน ในการพิจารณาและประกาศรับรองผลไม่น้อยกว่า 95% เพื่อเปิดสภาได้  

2. เราปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขในระบบรัฐสภา การเลือกนายกฯ ไม่ได้มาจากเสียงประชาชนโดยตรง แต่เลือก ส.ส. จากพรรคการเมืองเป็นผู้แทนเข้ามา พรรคอันดับหนึ่งก็มีโอกาสตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อนายกฯ จากนั้นก็ให้โหวตเลือกนายกฯ ต้องได้ 376 เสียง ของทั้ง 2 สภา ตอนนี้ ก้าวไกล ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาล่าง แต่จะได้เกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภาหรือไม่ยังไม่รู้

3. การเลือกนายกฯ ของทั้ง 2 สภา เป็นเอกสิทธิ์ แต่ละคน มี 1 เสียงเท่ากัน และกฎหมายไม่ได้บอกว่า ส.ว. ต้องโหวตตามเสียงข้างมาก 4. ไม่ว่าจะได้คะแนนเสียงมากแค่ไหน แม้ได้ 500 คน ได้เสียงประชาชน 100% ก็ไม่ได้แปลว่ามีสิทธิล่วงละเมิดกฎหมายได้ หรือกฎหมายไม่มีความสำคัญแล้ว เช่น การกำหนดคุณสมบัติไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อ ซึ่งไม่ได้ไปลบล้างอะไร เพราะกฎหมายมีมาก่อนแล้ว

“หากเอาตรงนี้เป็นตัวตั้ง ทำความเข้าใจ 4 ข้อนี้ก็จะเห็น และเข้าใจ” ส่วน “พิธา” ถูกร้องเรียนว่า คุณสมบัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ก็มีโอกาสได้เป็นนายกฯ แต่ถ้าคุณสมบัติไม่มีปัญหาอะไรเลย ท้ายที่สุดจะลงเอยว่าได้คะแนนมามากพอเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภาหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก แต่ต้องเคลียร์ปัจจัยภายในให้ได้ก่อน เพราะเรื่องหุ้นสื่อมีน้ำหนักมากพอที่จะถ่วงไม่ให้เป็นนายกฯ อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายในการตัดสินใจของ ส.ว. จากปัญหามากมายที่สั่งสม ทับถมมา เช่น ถ้าคิดไกลๆ หากเลือก “พิธา” มาแล้ว ประธานสภา นำชื่อโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้ว ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติ เรื่องอาจจะยุ่ง ยิ่งมีปัญหา ในเรื่องของกระทบกับความรู้สึกของคน

ทั้งนี้ถ้าสถานการณ์สุกงอมไปในทิศทางเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีก้าวไกล จะมาใช้คำว่า “กล้า” หรือ “ไม่กล้า” กับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ แต่ตอนนี้เพื่อไทยยังมีสปิริตของนักการเมือง พรรคการเมือง จึงยังรวมกับพรรคก้าวไกล แต่ถ้าไปไม่ได้จริงๆ เพื่อไทยก็พร้อมจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกลได้ หากก้าวไกลจะลงถนนชนกับเพื่อไทย หรือจะข่มขู่ใครได้ ไม่ว่าจะเป็นนิติสงคราม หรือสงครามจริงๆ ก็ต้องคิดหนัก ยิ่งถ้ามีประชาชนเกิดอันตราย ท้ายสุดใครเป็นคนสร้างปัญหา

นอกจาก “ไม่ได้มา แล้วยังเสียไป” เพราะกฎหมายมีอยู่แล้ว เรื่องไม่ให้ถือหุ้นสื่อ ไม่มีใครสอดไส้เข้ามา ส่วนที่มีคนมองว่ามีการปลูกฝังความคิดด้อยค่ากฎหมายหากตีความไม่เป็นผลดีกับตัวเองนั้น จริงๆ เรื่องนี้มีมานานแล้ว ไม่เฉพาะยุคนี้เท่านั้น แต่เป็นทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ไม่มีใครแกล้งใคร แต่เหมือนเป็น มายาคติ ว่า คนนี้ คนนั้นแกล้ง  

ถ้าดูกลางๆ เช่น ถือหุ้นสื่อจริง ขาดคุณสมบัติจริง แล้วมีกลไกสร้างพยานหลักฐานเท็จ จริงๆ ก็ชักจะไม่ดีกับบ้านเมืองไปเรื่อยๆ ถ้าต้องทู่ซี้ผลักดันเอาคนที่เป็นหัวหน้าพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเพียง 150 กว่าเสียงนี้เป็นนายกฯ ให้ได้ ทั้งที่อีก 300 กว่าที่ไม่ได้เลือก แล้วเห็นบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ แทนที่จะให้เป็นเช่นนั้น เพื่อไทยอาจจะแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งก็ได้ เพราะพยายามแล้ว แต่ถ้าถ่วงเวลา มีรัฐบาลรักษาการไปเรื่อยๆ บ้านเมืองก็ไม่ดี

ฉะนั้นในที่สุดถ้ามีความต้องการมากเกินไปแล้วเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอาความคิดตนเป็นใหญ่ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองเดินต่อไม่ได้ บ้านเมืองไม่สงบสุข เพราะคนไม่เลือกก้าวไกลมี 27 ล้านคน คนเลือก 14 ล้านคน และอย่าเคลมคะแนนของเพื่อไทย เพียงเพราะเขามารวมด้วย คนที่เลือกเพื่อไทย ไม่ได้หมายความว่าเลือกก้าวไกล ต้องทำความเข้าใจตรงนี้  ดีที่สุดทุกฝ่าย ต้องทำความเข้าใจ 4 ข้อ และยอมรับ เพราะนี่คือ สิ่งที่คุณเรียกร้องหาประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่าจะสังคมนิยม หรือประชาธิปไตย ล้วนแล้วแต่มีกฎกติกามารยาท ก็ต้องทำตามนั้น.