จากกรณีการค้นหาเรือดำน้ำนำเที่ยว “ไททัน” ของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชันส์ ซึ่งนำกลุ่มมหาเศรษฐี 5 คน ดำดิ่งไปชมซากเรือไททานิก ในเขตทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก แล้วขาดการติดต่อกับศูนย์ปฏิบัติการ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยภายหลังได้พบชิ้นส่วนเรือดำน้ำไททัน ใกล้กับซากเรือไททานิก ที่จมอยู่ทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก โดยลักษณะของชิ้นส่วนบ่งชี้ว่า เรือดำน้ำระเบิด “จากแรงกดดันมหาศาลภายนอกบีบอัดเข้ากับตัวยาน” คาดว่าเป็นสาเหตุให้ผู้โดยสารภายในเรือดำน้ำเสียชีวิตทั้งหมด โดยเรื่องดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิดกระแสพูดถึงระดับความลึกของท้องทะเลในโลกนี้ไปทั่วทั้งสังคมออนไลน์

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า “คนทั้งโลกกำลังสนใจ “ทะเลลึก” จึงอยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ทราบ” ขอบเขตของทะเลลึก เริ่มจากความลึก 200 เมตร เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์เริ่มหมดไป แสงที่ความลึกนั้นเหลือไม่ถึง 1% เนื่องจากน้ำดูดกลืนแสง เมื่อลงไปถึง 1000 เมตร จะไม่มีแสงใดเหลืออยู่เลย

ภาพ : สัตว์น้ำอยู่ได้แม้ในทะเลลึก เนื่องจากมีวิวัฒนาการมาเพื่อปรับตัวอยู่ในเขตนั้น เช่น กุ้งน้ำลึกที่พบในทะเลอันดามัน โดย อ.ธรณ์

ทะเลลึกคือพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดใหญ่กว่าแผ่นดินทั้งหมดที่มนุษย์อยู่ ผิวโลกแบ่งง่ายๆ เป็นทะเล (70.8%) แผ่นดิน (29.2%) มากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทะเล ลึกเกิน 4,000 เมตร จุดลึกสุดของมหาสมุทร ลึกกว่าซากเรือไททานิกมาก จุดลึกสุดของแอตแลนติก 8,480 เมตร จุดลึกสุดของโลก (แปซิฟิก) ประมาณ 11 กิโลเมตร

ความลึกเฉลี่ยของแอตแลนติก 3,600 เมตร น้อยกว่าไททานิกเล็กน้อย จุดที่ไททานิกจมอยู่ จึงไม่ใช่จุดที่ลึกมากมายเมื่อเทียบกับความลึกเฉลี่ย ความลึกเฉลี่ยของแปซิฟิกคือ 4,000 เมตร ลึกกว่าไททานิก ทะเลแบ่งเป็น 5 โซน ทะเลลึกแบ่งเป็น 4 โซน

ไททานิกอยู่ในเขต Abyssopelagic ที่นั่นไม่มีแสง อุณหภูมิน้ำใกล้ศูนย์องศา (แต่ไม่เป็นศูนย์) ความเค็ม 35 ppt ปรกติ แต่ความดันแตกต่าง ความดันเพิ่ม 1 เท่าทุกความลึก 10 เมตร ความดันที่ไททานิกประมาณ 380 เท่าของผิวโลก แรงกดจึงมหาศาล คิดง่ายๆ คือพื้นที่เท่ากับแสตมป์ 1 ดวง รับน้ำหนักเท่ากับช้างหนึ่งตัว ช้างกับแสตมป์เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นภาพ แต่ความกดระดับนั้น หากโครงสร้างยานทนไม่ได้ เกิดระเบิด จะรุนแรงมหาศาล

“catastrophic implosion คือคำที่ใช้สำหรับเหตุการณ์แบบนั้น แรงกดดันจะทำลายทุกอย่างในเสี้ยววินาที ผู้จากไปแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าจะเกิดระเบิดเพราะแรงดัน ขอให้ดวงวิญญานของทุกคนไปสู่สุคติครับ”

ภาพ : โลกใต้ทะเลลึก สัตว์จะบอบบาง เพราะน้ำค่อนข้างนิ่งมาก แทบไม่มีกระแสน้ำ โดย อ.ธรณ์

สำหรับทะเลไทยมีเขตทะเลลึกในอันดามัน ไม่มีในอ่าวไทย เพราะอ่าวไทยตื้นมาก ทะเลอันดามันในส่วนของประเทศไทย (EEZ) ลึกสุดประมาณ 2 พันเมตร แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต 1,000 เมตร การสำรวจทะเลลึกของไทยมีน้อยมาก เรียกว่าแทบไม่มีเลย เพราะต้องใช้อุปกรณ์ราคามหาศาล เรือสำรวจ ฯลฯ มีการสำรวจอยู่บ้าง โดยเป็นโครงการร่วมมือระหว่างประเทศ ในอนาคต หากเริ่มมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพื้นทะเลอันดามัน เช่น ปิโตรเลียม เราอาจเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Thon Thamrongnawasawat