จากเกณฑ์ที่ใช้กำหนด สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด คาดว่าราวปี 2564 ประเทศไทยจะขยับสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ จากนั้นก้าวสู่ สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society)ทั้งนี้อายุเพิ่มขึ้นสุขภาพร่างกายย่อมมีความเสื่อมถอย การปรับเปลี่ยนออกแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สร้างความสุขในชีวิตยามบั้นปลาย ทั้งนี้ชวนสำรวจ ชวนปรับเปลี่ยนจุดเสี่ยงอันตรายในบ้านและพื้นที่รอบบ้าน เตรียมพร้อมก่อนสูงวัย ทั้งเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุที่พักอาศัยร่วมกันภายในบ้าน

โดย ผศ.ดร.ภาสิต ลีนิวา รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความรู้ ให้มุมมองการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นในเรื่องของการเตรียมความพร้อมมีความสำคัญ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ก่อนจะปรับเปลี่ยนใด ๆ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในทรรศนะจะมองเรื่อง ความรู้ และความเข้าใจ โดยเฉพาะความเข้าใจกับผู้สูงอายุ หากมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้จะทำให้สิ่งที่ตั้งใจ เป็นไปตามเป้าหมายอย่างแท้จริง

สำหรับวัยสูงอายุจะมีข้อจำกัดทั้งเรื่องสมรรถนะที่ถดถอยลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การมองเห็น การได้ยิน การเดิน การทรงตัว ฯลฯ โดยในเรื่องของบ้าน หรือที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง และจากที่เก็บข้อมูลการศึกษาวิจัยอุบัติเหตุ ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่พบคือ การหกล้มในบ้านพักอาศัย ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนมาก

การให้ความสำคัญสำหรับพื้นที่ปลอดภัยในบ้านจึงมีความสำคัญ โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อันตรายต่อผู้สูงอายุที่ต้องป้องกันระวังให้มากคือห้องนํ้า และห้องนอน ส่วนพื้นที่ที่รองลงมาที่ก็ต้องระมัดระวังได้แก่ พื้นที่ครัว หรือการเตรียมอาหาร การทำอาหารใด ๆ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าของผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง รวมไปถึงพื้นที่รอบบ้าน ต้องจัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ การมีสิ่งกีดขวางอาจทำให้เกิดการสะดุดลื่นล้ม ได้รับอันตรายได้ เป็นต้น

รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผศ.ดร.ภาสิตอธิบายเพิ่มว่า สำหรับบ้านพักอาศัย การปรับเปลี่ยนอาจเริ่มจาก พื้นที่หน้าบ้าน ก่อนเข้าบ้านอาจเพิ่มทางลาดที่ไม่ชันมากเพื่อให้ผู้สูงอายุเดินได้ง่ายเดินได้สะดวกขึ้น หรือถ้าต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ หรือใช้ไม้เท้าก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือถ้าบางบ้านไม่สามารถปรับแก้ต่อเติมได้อาจใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

“พื้นที่ต่างระดับในบ้านนั้นต้องระวัง ภายในบ้านควรเป็นพื้นที่เรียบ ระนาบ จากที่กล่าวการหกล้ม สะดุดล้มมักเกิดกับผู้สูงอายุ อีกทั้งเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาจไม่มีกำลัง การเดินอาจก้าวพลาดซึ่งเกิดขึ้นได้ง่าย อีกทั้งเรื่องสายตา การมองเห็นที่ไม่ชัดเจนอาจสร้างปัญหา และอนาคตถ้าต้องใช้อุปกรณ์ล้อเลื่อนก็สามารถจะเข็นไปได้ เป็นต้น”

หากต้องปรับเตรียมความพร้อมในลำดับแรกอยากให้พิจารณาส่วนนี้ และในที่นี้เกี่ยวเนื่องกับทางสัญจรภายในบ้านทั้งหมด พื้นที่ที่ต้องไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ต้องมี ทางสัญจรที่ไม่มีอุปสรรค โดยการปรับเปลี่ยนก็สามารถทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนกับโครงสร้างของบ้าน

ห้องนํ้า ก็เช่นกันควรมีความกว้างของทางเดิน โดยหลักการมีระยะประมาณเก้าสิบเซนติเมตรเป็นอย่างน้อยซึ่งระยะนี้จะเหมาะกับการใช้รถวีลแชร์ ขณะที่ ความกว้างของประตู ก็ควรมีความกว้างอย่างน้อยเก้าสิบเซนติเมตรเช่นเดียวกัน แต่ถ้าให้เหมาะสมเลยควรมีความกว้างหนึ่งเมตรถึงหนึ่งเมตรยี่สิบเซนติเมตร เพื่อความสะดวก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่บ้านที่เอื้ออำนวย และในส่วนของ ประตูควรเป็นบานเลื่อน ซึ่งผู้สูงอายุสามารถเปิดได้ด้วยตนเองสะดวกโดยเฉพาะถ้าต้องใช้วีลแชร์

ในส่วนของอุปกรณ์มือจับก็มีความสำคัญ ผศ.ดร.ภาสิตอธิบายเพิ่มอีกว่า ถ้าเป็นประตูบานเปิด มือจับแบบก้านโยก จะช่วยให้เปิดประตูได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ผู้สูงอายุอาจไม่มีแรงพอที่จะบิดลูกบิด แต่การกดลงจะช่วยให้เปิดได้ง่ายขึ้น และไม่ใช่เฉพาะประตู ก๊อกนํ้า ในห้องนํ้า ในห้องครัว ในพื้นที่ต่าง ๆ ควรเป็นลักษณะนี้ โดยในหลักการจะเป็นการช่วยเสริมแรงและใช้งานได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามหลักการของ ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ (Universal Design) การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ สามารถใช้งานได้อย่างไร้อุปสรรคโดยมีอยู่หลายข้อและจากที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ที่ต้องคำนึงถึงอีกเช่นกันคือ พื้นผิวและวัสดุ ควรเป็นพื้นผิวที่ไม่อันตรายเช่น ไม่ลื่น ไม่มัน เป็นพื้นผิวที่มีความด้านสักหน่อย โดยเฉพาะพื้นห้องนํ้า ไม่ควรมีความลื่น

“การเลือกกระเบื้องปูพื้นเลือกที่มีเทคเจอร์ ไม่ลื่น ลวดลายไม่ควรมีมาก เพราะอาจทำให้ลวงตา สะดุดหกล้มได้ เลือกลายเรียบ ๆ สีสันออกไปในโทนสว่าง ฯลฯ ขณะที่พรมเช็ดเท้าหน้าห้องนํ้าการนำมาใช้ต้องเลือกให้เหมาะสม บางบ้านใช้เสื้อผ้าเก่า ๆ นำมาวาง นำมาใช้ หรือเป็นพรมชิ้นเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่ใช้สำหรับห้องนํ้าก็อาจเป็นเหตุให้ลื่น สะดุด ได้รับอันตราย”

อีกทั้งยังมีในส่วนอุปกรณ์ช่วยผู้สูงอายุอย่างเช่น ราวจับ ติดตั้งบริเวณชักโครก อ่างล้างหน้า ฯลฯ จะช่วยการพยุงตัว อีกทั้งในส่วนของอ่างล้างหน้า พื้นที่ใต้อ่างออกแบบให้มีพื้นที่รถเข็นเข้าไปจอดได้ก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ขณะที่ เก้าอี้นั่งอาบนํ้า ก็เป็นอีกอุปกรณ์ที่ควรมี โดยส่วนตัวมองว่ามีความจำเป็น ซึ่งสามารถออกแบบเป็นเก้าอี้ตายตัวนับแต่เริ่มต้นทำห้องนํ้า หรือนำมาเสริมภายหลังได้

อีกทั้ง ในห้องนํ้าควรมีช่องเปิดรับแสงรับลมซึ่งจะช่วยเรื่องการระบายอากาศ ทั้งช่วยให้พื้นห้องนํ้าที่เปียกแห้งไวขึ้น และยังมีผลต่อการช่วยเหลือผู้สูงอายุ กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่คาดฝันเกิดขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนเตรียมความพร้อมไว้นับแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องที่ดี ผศ.ดร.ภาสิตให้มุมมองเพิ่มอีกว่า นอกจากนี้ ห้องนอน เป็นอีกจุดที่อาจเกิดอันตรายขึ้นกับผู้สูงอายุได้โดยเฉพาะกรณีที่ตื่นขึ้นมาเข้าห้องนํ้าในช่วงกลางคืน

ความมืด การมองเห็นไม่ถนัดชัดเจนทำให้เกิดอันตราย หกล้มได้ ส่วนนี้ปรับแก้โดยการติดตั้งไฟหัวเตียง หรืออาจติดตั้งเซ็นเซอร์ โดยหากขยับตัวลุกเข้าห้องนํ้า ไนท์แลมป์จะทำงานอาจสว่างใต้เตียง หรือบริเวณหัวเตียง ฯลฯ หรือการติดตั้งเซ็นเซอร์บริเวณประตูห้องนํ้าก็ช่วยการมองเห็น

นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็มีความสำคัญโดยเฉพาะการเอื้อมหยิบสิ่งของในตู้เสื้อผ้า หยิบสิ่งของสูงเกินระยะเอื้อม ก็ต้องระมัดระวังให้มากสำหรับผู้สูงอายุ อย่างเช่น เอื้อมหยิบกระเป๋าเดินทาง ของใช้ที่มีนํ้าหนักที่จัดเก็บในตู้ในชั้นที่สูง ก็อาจหล่นลงมาใส่ตัว ฯลฯ ในกรณีเหล่านี้ ควรต้องหลีกเลี่ยง ไม่ควรฝืนทำด้วย

แสงสว่าง ภายในบ้านก็ต้องออกแบบให้มีความเหมาะสม และให้ความสำคัญกับช่องเปิด ซึ่งในที่นี้คือ ประตู หน้าต่าง โดยเฉพาะหน้าต่างถ้ามีเพียงพอจะช่วยทั้งการนำแสงจากธรรมชาติและการระบายอากาศ แต่หากที่อยู่อาศัยมีข้อจำกัดก็ปรับเปลี่ยน โดยใช้แสงประดิษฐ์ที่มีความสว่างเพียงพอ

นอกจากพื้นที่ในตัวบ้าน พื้นที่รอบ ๆ บ้าน สวนหน้าบ้านก็ต้องให้ความสำคัญ โดยแนวคิดก็เป็นเช่นเดียวกันทั้งในเรื่องของ ความกว้างทางสัญจร และอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงวัสดุที่จะเกิดความต่างระดับ แต่หากเป็นพื้นที่สวนมีรากไม้อาจเป็นไปได้ยากที่จะหลีกเลี่ยงก็ปรับเปลี่ยนด้วยการจัดสรรพื้นที่ทางเดินให้ชัดเจน เพื่อให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เดินยืดได้สะดวก ปลอดภัย หรือถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะ ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น อย่างเช่น คำนึงถึงพื้นที่ที่กว้างต่อการสวนกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน หรือการใช้จักรยาน หรือการใช้งานร่วมกันฯลฯ ก็ต้องออกแบบให้เหมาะสม

จากที่กล่าวการศึกษาในเรื่องนี้แม้จะมีมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุในปัจจุบันยังคงเป็นที่สนใจ ทั้งขยายลงไปในหลายพื้นที่ อย่างเช่น ที่อยู่อาศัย มีการพูดกันถึงในหลายสเกล ทั้งในกลุ่มที่มีข้อจำกัดจะปรับอย่างไร ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยมีการเรียนการสอน ทั้งทำงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ และการปรับเปลี่ยนยังช่วยลดอุปสรรคการดำเนินชีวิต ไม่เกิดอันตราย โดยรองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ภาสิต ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า การทำความเข้าใจกับผู้สูงวัยมีความสำคัญ โดยเมื่อเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคก็จะปรับแก้ไข ได้ถึงเป้าหมาย

สร้างความสุขความพร้อมในวัยสูงวัย.