เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี DSI นายวาริส วิสารทานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ร้อยตรี จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายสัตวแพทย์ บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังลงพื้น เพื่อตรวจสอบตู้ของตกค้างประเภทซากสัตว์ และสุกรเถื่อนแช่แข็ง (ของกลางในคดีพิเศษที่ 59/2566) ที่ตกเป็นของแผ่นดิน 161 ตู้คอนเทเนอร์ ณ ท่าเทียบเรือ D1 ท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

พ.ต.ต.สุริยา เปิดเผยว่า หลังจากได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะมีการเปิดดูตู้สินค้าที่ทำการยึดไว้ โดยมีการเร่งรัดเปิดตรวจสอบทุกตู้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะมีการตรวจสอบไปยังสายเรือที่นำเข้ามาเพื่อตรวจสอบน้ำหนัก ปริมาณ จำนวน ว่าได้ตรงกับที่ได้สำแดงไปในรายการสินค้า ซึ่งจะอยู่ในกระบวนการสอบสวนต่อไป

นายวาริส เปิดเผยว่า ตามที่สํานักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร ได้ตรวจยึดซากสุกรแช่แข็งตกค้าง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ จากการตรวจสอบ พบซากสัตว์ที่ยึดได้ทั้งหมด มีแหล่งกําเนิดจากต่างประเทศและไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ประกอบกับ ไม่มีเอกสารรับรองการฆ่าสัตว์หรือสุขศาสตร์ของสัตวแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด หรือพาหะของโรคระบาดสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศได้

ต่อมากรมศุลกากรได้มีหนังสือถึงกองบัญชาการ ตํารวจสอบสวนกลาง เพื่อให้ดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิด รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว ในความผิดฐานนําเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2566 กรณี ขบวนการนําเข้าสินค้าประเภท ซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้มีหนังสือส่งมอบตู้สินค้าประเภทสุกรแช่แข็งตกค้างให้แก่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ เพื่อทําลาย ซึ่งภายหลังจากการตรวจสอบตู้สินค้าดังกล่าวเสร็จสิ้น ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ จะนําไปทําลายตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกอบระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการทําลายหรือจัดการ โดยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่นําเข้าหรือนําผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 ต่อไป เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่ถูกต้อง โปร่งใส สอดคล้องกับพันธกิจของกรมศุลกากรด้านการปกป้องสังคมและส่งเสริมเศรษฐกิจของ ประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน