“…วันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี ตรงกับวันชาติของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมให้ทั่วโลกได้รู้จักคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศสที่ว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” อันเป็นรากฐานของชาติฝรั่งเศส และเป็นสิ่งขับเคลื่อนค่านิยมสากลที่ฝรั่งเศสร่วมแบ่งปันกับไทย ทั้งนี้ จากยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่กระบวนการและค่านิยมประชาธิปไตย ในขณะที่กำลังเขียนสารฉบับนี้ ไทยยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งฝรั่งเศสพร้อมที่จะทำงานกับรัฐบาลไทยชุดต่อไปในบริบทที่เอื้ออำนวยต่อการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนในเชิงลึกระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

ความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรามีพื้นฐานที่มั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นหุ้นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศสในเอเชีย ทั้ง 2 ประเทศจะเฉลิมฉลองครบรอบ 340 ปี การติดต่อครั้งแรกระหว่างฝรั่งเศสกับสยามในปี 2568 และครบรอบ 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตฝรั่งเศส-ไทยในปี 2569 ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศไม่เพียงฝังรากลึกในประวัติ ศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นเดินหน้าสู่อนาคต ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ฯพณฯ ตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

แผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย (ค.ศ. 2022-2024) ซึ่งลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2565 ณ กรุงปารีส ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย กำหนดเป้าหมายสำคัญเพื่อ ยกระดับความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศได้แสดงความตั้งใจที่จะผลักดันความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ทุกด้าน ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งดำเนินการทั้งในรูปแบบการประชุมหารือร่วมกัน ได้แก่ การหารือระดับสูงด้านเศรษฐกิจ การประชุมคณะกรรมการกลาโหมที่จะจัดขึ้นครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2566 ณ กรุงปารีส การประชุมปรึกษาหารือทางการเมือง การเจรจา 2+2 ที่จะมีขึ้นครั้งแรกระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงกลาโหมของทั้ง 2 ฝ่าย และในรูปแบบการลงนามหรือการเจรจาเอกสารสำคัญ เช่น ปฏิญญาแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือฝรั่งเศส-ไทย ในสาขาคมนาคมขนส่ง ปฏิญญาแสดงเจตจำนงที่อยู่ระหว่างจัดทำในสาขาการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือความตกลงฝรั่งเศส-ไทย ด้านการวิจัยและการอุดมศึกษา

ประตูชัยฝรั่งเศส (ภาพ MEAE โดย Jonathan Sarago)

แผนการดังกล่าวได้ลงนามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก ในวาระที่ฝรั่งเศสเป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและในวาระที่ไทยในฐานะสมาชิกสำคัญของอาเซียนเป็นประธานเอเปค และได้รับการตอกย้ำความสำคัญในระดับสูงสุดในช่วงการเยือนไทยของ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค นับเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญผู้นำประเทศและรัฐบาลยุโรปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว การเยือนครั้งนี้ยังพิสูจน์ถึงการที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญในลำดับต้นแก่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ตนเองมีบทบาทอย่างเต็มที่ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ซึ่งวาระดังกล่าวได้เปิดทางสู่การดำเนินการเพื่ออนาคตใน 2 มิติ

มิติแรก เกี่ยวข้องกับความตั้งใจของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายในประเด็นระดับโลก ได้แก่ การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการดูแลรักษาสุขภาพของมนุษย์ ในการนี้ ไทยได้ลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม Preventing Zoonotic Disease Emergence (PREZODE) และการสนับสนุนกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People ซึ่งเป็น กลไกที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุน

หมู่บ้านโบม-เล-แมซีเยอ (ภาพ MEAE โดย Franck Charel)

มิติที่สอง เกี่ยวข้องกับความปรารถนาของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะทำให้นวัตกรรมเป็นแนวทางใหม่ในการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยได้กำหนดให้ ปี 2566 เป็นปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย และเตรียมที่จะสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การอุดมศึกษา และเทคนิคในสาขาหลักต่าง ๆ ได้แก่ อากาศและอวกาศ สุขภาพและอาหาร เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งนี้ การเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัยฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม 2566 จะเป็นโอกาสในการส่งเสริมมิติดังกล่าวในเชิงลึก

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฝรั่งเศสได้แสดงออกซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อไทย ผ่านการสนับสนุนวัคซีนจำนวนมากกว่า 4.2 ล้านโด๊ส จากนี้ไป วิกฤติสาธารณสุขดังกล่าวจะกลายเป็นเพียงความทรงจำอันเลวร้าย บัดนี้ เราสามารถกลับมาเดินทางได้อย่างอิสระ เกิดพลวัตการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ฝรั่งเศสในฐานะจุดหมายการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลกได้เปิดต้อนรับชาวไทยอย่างเต็มที่มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักศึกษา ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุน ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมการประชุม Choose France Summit ของคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ตามที่มีข่าวเผยแพร่อย่าง กว้างขวาง

ครบรอบ 15 ปี การจัดสอบวัดระดับความรู้ทางภาษาฝรั่งเศส DELF scolaire ในไทย

ขณะเดียวกัน ชาวฝรั่งเศสก็กลับมาท่องเที่ยวเมืองไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้มอีกครั้ง ไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวฝรั่งเศสมาอย่างยาว นานในเอเชีย โดยในปี 2562 มีชาวฝรั่งเศสเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยจำนวนมากกว่า 800,000 คน

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่มีชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่มากที่สุดในเอเชีย ซึ่งชาวฝรั่งเศสและบริษัทฝรั่งเศสจำนวนมากในไทยต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวของไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ฝรั่งเศสต้องการที่จะสนับสนุนบทบาทดังกล่าว โดยจะผลักดันให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการหารือฝรั่งเศส-ไทย ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและการปกป้องชนิดพันธุ์ ซึ่งรัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเตรียมการ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม 2567 จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาสังคมของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชน ซึ่งในโอกาสดังกล่าว กีฬาจะเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินการหลักของฝรั่งเศสในไทยในช่วงหลายเดือนที่จะถึงนี้

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสพบหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

ไทยภาคภูมิใจในเอกราชและไม่ได้ดำเนินนโยบายในทางที่จะตกอยู่ในมือของมหาอำนาจ ดังนั้น แนวทางที่ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป (อียู) นำเสนอภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของทั้งคู่ จึงสอดรับกับนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ Global Gateway ของอียู ที่จะพาชาวยุโรปมาลงทุนอย่างมหาศาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมระหว่างยุโรปกับเอเชีย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ก็มีแนวโน้มที่สดใส

ฝรั่งเศสและไทย ก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย และการพัฒนาที่ยั่งยืน…”.

ทีมวาไรตี้
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป