กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นคดีพิเศษที่ 59/2566 รวมทั้งได้เร่งดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ตามที่มีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ไล่เช็กบิล 11 บริษัทค้าหมูเถื่อน สายเรืออีก 17 แห่งเรียกเค้นทุกราย

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และในฐานะรอง ผอ.กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ (กทศ.) กล่าวว่า วันนี้ตนจะเข้าร่วมประชุมกับคณะพนักงานสอบสวน เพื่อรับฟังรายงานความคืบหน้าทางคดี รวมถึงแนวทางการสอบสวนจากนี้ และพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากในช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับสำนวนคดีที่เหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เรียบร้อยแล้ว พร้อมนำไปเป็นอีกหนึ่งพยานหลักฐานในคดี

“จากนี้จะต้องนำสำนวนมาพิจารณารายละเอียด ทั้งในส่วนของคำให้การ การสอบปากคำพยานบุคคล เบื้องต้นดีเอสไอจะเรียกสอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในฐานะผู้กล่าวหา เพื่อสอบยันคำให้การเดิม รวมถึงในประเด็นอื่นๆ อาทิ ที่มาเรื่องราว มีบุคคลใดรับหน้าที่กระทำการอย่างไรบ้าง กรมศุลกากรได้รับความเสียหายอย่างไร เท่าไร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการแบ่งชุดมอบหมายงานแก่พนักงานสอบสวน เพื่อเตรียมการเข้าสู่ขั้นตอนสอบปากคำ และคาดว่าจะมีการร่วมกันลงมติถึงเรื่องการออกหมายเรียกพยานแก่บุคคลใดบ้าง” ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ระบุ

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ เผยอีกว่า สำหรับ 17 สายเรือ ที่รับหน้าที่นำเข้าสินค้านั้น จะทยอยออกหมายเรียกเข้าให้การในฐานะพยาน คาดว่าจะเรียกสอบปากคำ 4 สายเรือ/1 วัน โดยภายใน 1 สัปดาห์ คาดว่าจะสามารถสอบปากคำแล้วเสร็จ โดยทั้งหมดจะเป็นพยานในคดี เพราะจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏข้อเท็จจริงว่าทั้งหมดไม่มีความเกี่ยวข้อง รับหน้าที่เพียงรับจ้างขนสินค้า ใครว่าจ้างก็รับจ้าง แม้ว่าการว่าจ้างนั้น 17 บริษัทสายเรือ จะรับรู้ว่าภายในตู้คอนเทเนอร์บรรจุสินค้าใด แต่ไม่รู้ว่ากฎหมายแต่จะประเทศมีแนวทางการควบคุมสินค้าอย่างไร ขณะที่บริษัทชิปปิ้งเอกชนทั้ง 11 แห่ง มีแนวโน้มว่าพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหา เพราะระหว่างที่เจ้าหน้าที่เร่งรัดดำเนินการ ทั้งรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งการติดตามสอบปากคำพยานบุคคลจำนวนมาก พบว่าค่อนข้างมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 161 ตู้ และมีพฤติการณ์สำแดงเท็จ

“เมื่อถึงวันนั้น ผู้ต้องหาก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การรับสารภาพในข้อกล่าวหา หรือปฏิเสธแล้วทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในภายหลัง หรืออาจจะขอให้การในชั้นศาลแทนก็ได้” ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ระบุปิดท้าย.