เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และในฐานะรองผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ (กทศ.) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบบริษัท 11 แห่งที่เกี่ยวข้องและสายเรือ 17 แห่งที่นำเข้าหมูเถื่อนว่า บริษัทชิปปิ้งเอกชนทั้ง 11 แห่ง (ทำหน้าที่ซื้อสินค้าเข้ามาแล้วว่าจ้างบริษัทสายเรือทั้ง17 แห่งนำเข้า) นั้น ดีเอสไอจะดำเนินการออกหมายเรียกบริษัทสายเรือทั้งหมด 17 แห่ง เพื่อเข้าให้การในฐานะพยานอีกครั้ง ขณะที่บริษัทชิปปิ้งเอกชน หากดีเอสไอแสวงหาพยานหลักฐานรวบรวมจนเกิดความชัดเจนระดับหนึ่ง จะดำเนินการออกหมายเรียกเพื่อให้เข้าให้การในฐานะพยานก่อน แต่ถ้าเงียบไร้การติดต่อกลับ จนดีเอสไอสามารถรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนทุกมิติ และพิจารณาเห็นว่าสมควรแก่การแจ้งข้อกล่าวหาก็จะดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหากับบริษัทชิปปิ้งเอกชนทั้ง 11 แห่ง รวมไปถึงการขอศาลออกหมายจับด้วย

ประเด็นที่จะใช้ในการสอบถามบริษัทชิปปิ้งเอกชนทั้ง 11 แห่ง อาทิ มีกระบวนการขั้นตอนการสั่งสินค้านำเข้าทั้งหมดอย่างไร ทำไมจึงไม่ดำเนินการสำแดงสินค้าว่าเป็นเนื้อสุกรแช่แข็งหรือว่าเนื้อสัตว์ประเภทใด เป็นต้น นอกจากนี้ จากทางการข่าวระบุว่า บริษัทชิปปิ้งเอกชนทั้ง 11 แห่งนี้ไม่ใช่บริษัทใหม่ แต่มีลักษณะประกอบธุรกิจในลักษณะดังกล่าวมานานแล้ว ย้อนหลังไป 4-5 ปีก่อนหน้านี้ บริษัทเหล่านี้มีการนำเข้าสินค้าจำนวนเยอะ แต่เป็นของที่เมื่อนำเข้ามาแล้วก็มีการบริโภคหมดสิ้น ไม่เหมือนกรณีของการนำเข้ารถหรู ที่ของกลางพยานหลักฐานจะยังคงอยู่ แต่พอเป็นสินค้าอาหารแช่แข็ง เมื่อนำเข้ามาแล้วก็มักจะหายหมด จึงทำให้คาดเดาได้ยากว่าที่ผ่านมาบริษัทเอกชนเหล่านี้นำเข้าเป็นเนื้อสุกรแช่แข็งหรือไม่

การพิจารณาแจ้งข้อหาแก่บริษัทสายเรือทั้งหมด 17 แห่ง มองว่าไม่เกี่ยวข้องเพราะทำหน้าที่รับจ้างให้บริษัทชิปปิ้งเท่านั้น ส่วนคนที่ว่าจ้างบริษัทสายเรือเหล่านี้ หรือ บริษัทชิปปิ้งเอกชน จะถูกแจ้งข้อหาในความผิดมาตรา 244 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร ในส่วน“ของต้องห้าม ต้องจำกัด”เนื่องจากจะต้องมีการขออนุญาตก่อน แต่เมื่อไม่มีการขออนุญาตก็จะมีความผิด รวมไปถึงอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ของกรมปศุสัตว์

สำหรับการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ครบแล้ว 161 ตู้ ส่วนสถานที่ที่จะใช้ในการฝังกลบทำลายหมูเถื่อนทั้ง 161 ตู้นั้น ในเบื้องต้นกรมปศุสัตว์รายงานว่าจะเป็นพื้นที่ในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งปกติแล้วมาตรฐานของการฝังกลบจะต้องขุดดินลึกกว่า 4 เมตร และถ้าหากขุดลึกมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดี อาจเจอน้ำใต้ดินได้ และเมื่อขุดดินลึก 4 เมตรแล้ว ในส่วนของซากสัตว์ที่จะฝังกลบจะทำได้แค่ 2 เมตร และต้องเอาดินกลบอีก 2 เมตร เบื้องต้นวางแผนไว้ว่าจะดำเนินการในช่วงกลางคืนด้วยเหตุผลประการสำคัญ คือ การจราจรมีความสะดวกคล่องตัว พร้อมขอให้ผู้เสียหาย เกษตรกร หรือภาคประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องเนื้อหมูของกลางจะหายระหว่างการขนลำเลียง เพราะขณะนี้หมูในตู้เริ่มเน่าแล้วเพราะตู้เหล่านี้ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2565 และโดยคาดว่าจะมีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการทำลาย ประมาณ 12 ล้านบาท

นอกจากนี้ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ยังสรุปข้อมูลการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุซากหนูเถื่อนทั้ง 161 ตู้ ของกลางในคดีพิเศษที่ 59/2566 ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 6-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ดังนี้ วันที่ 6 ก.ค.66 ตรวจไปทั้งหมด 33 ตู้ ประกอบด้วย ท่าเรือฮัทชิสัน D1, ท่าเรือ LCMT A0, ท่า LCB1, ท่า LCB1 B1 ชนิดของสินค้าที่พบ ได้แก่ ตับสุกร เนื้อสุกรสามชั้น เนื้อสุกร หลอดลมหมู เครื่องในสุกร หูหมู หมูสามชั้น ขาสุกรหน้ากากหมู หน้ากากหมู/เครื่องในหมู วันที่ 7 ก.ค.66 ตรวจไปทั้งหมด 28 ตู้ ประกอบด้วย ท่าเรือฮัทชิสัน D1 ชนิดของสินค้าที่พบ ได้แก่ เนื้อสุกร เนื้อสุกรสามชั้น ตับสุกร ขาสุกร และเครื่องในหมู

ทั้งนี้ในวันที่ 10 ก.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตรวจไปทั้งหมด 39 ตู้ ประกอบด้วย ท่าเรือฮัทชิสัน D1, ท่าเรือเอเวอร์กรีน B2, ท่าเรือซีวายฯ B3, ท่าเรือแหลมฉบังฯ C3, ท่าเรือแหลมฉบังฯ B5 ชนิดของสินค้าที่พบ ได้แก่ เนื้อสุกร ไส้สุกร มันหมู เนื้อสุกรสามชั้น ตับสุกร หนังหมู วันที่ 11 ก.ค.66 ตรวจไปทั้งหมด 35 ตู้ ประกอบด้วย ท่าเรือฮัทชิสัน D1, ท่าเรือฮัทชิสัน C1, ท่า TIPS B4 ชนิดของสินค้าที่พบ ได้แก่ เนื้อสุกร มันหมู หมูส่วนท้อง สะโพกหมู สันนอกหมู หมายเหตุ* มี 2 ตู้มีใบขนสินค้า วันที่ 12 ก.ค.66 ตรวจไปทั้งหมด 26 ตู้ ประกอบด้วย ท่าเรือเคอร์รี่, ท่าเรือเคอร์รี่สยาม ชนิดของสินค้าที่พบ ได้แก่ เนื้อสุกร เนื้อสุกรสามชั้น ตับสุกร ซี่โครงสุกร หนังหมู ลำไส้สุกร เป็นต้น.