การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกับ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) และสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย จัดการอบรมโครงการสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ค. 66 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ค. เป็นการจัดการอบรมโครงการสัมมนาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยอัดแน่นไปด้วยการบรรยายในหัวข้อต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ เรื่อง “สารต้องห้าม” ให้แก่นักกีฬา โค้ชและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬา เช่น หากโดนสุ่มเก็บตัวอย่าง จะต้องเข้าใจกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ให้ละเอียด สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง หากพิสูจน์ความผิดพบว่าจริง ก็จะมีบทลงโทษคือ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬา ถือว่ารุนแรงมาก

การอบรมในช่วงเช้ามีการบรรยายในหัวข้อ “Muaythai to Olympic” หรือ “มวยไทยไปสู่โอลิมปิก” โดย มร.สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ร่วมบรรยายให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมการอบรมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังจากนั้นเป็นการอบรมหัวข้อ “Introduction to doping” หรือ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสารต้องห้าม” โดย Charissa Tynan ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เช่นกัน

มร.สเตฟาน ฟ็อกซ์ กล่าวว่า IFMA เดินหน้าผลักดันมวยไทยเข้าสู่โอลิมปิก โดยได้ดำเนินการในมิติด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และในระดับนานาชาติ โดยสิ่งสำคัญคือเราเน้นเรื่องการไม่ใช้สารต้องห้าม และที่ผ่านมาได้มีการทดสอบอย่างละเอียดหลายพันครั้ง ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก และผ่านการตรวจโด๊ปมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

“เราจะทำให้กีฬามวยไทยเป็นที่ยอมรับในสากล ซึ่งสิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งคือการต่อต้านการใช้สารต้องห้าม เราจึงได้จัดเวิร์กช็อปครั้งนี้เพื่อให้กีฬามวยไทยของเรามีความขาวสะอาด ปลอดภัย ปกป้องนักกีฬาให้ไม่มีสารกระตุ้น ต่อยอดมวยไทยเข้าไปสู่โอลิมปิกต่อไปในอนาคต เพราะตอนนี้มวยไทยอยู่ในแนวทางของ WADA, ITA และ IOC แล้ว ซึ่งเราก็จะดูแลไปอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ IFMA กล่าว

จากนั้นในช่วงบ่ายได้มีการอบรมในหัวข้อ “Medication and Suppliment” หรือ “ยาและอาหารเสริม” บรรยายโดย Janice Lynn ตามด้วยหัวข้อ “Safeguarding part 1” หรือ “วิธีการป้องกันสารต้องห้าม ตอนที่ 1” บรรยาย โดย Jamie Tucker และปิดท้ายวันด้วยหัวข้อ Medical Procedures in Muaythai หรือการแพทย์ในวงการมวยไทย บรรยาย โดย Erdogan Aydin ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมจากทั่วประเทศกว่า 200 คน จาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย, บุคลากรทางการกีฬา, บุคคลวงการกีฬามวย, สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 25 จังหวัด, สมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมกีฬาคิกบ๊อกซิ่งแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสารต้องห้ามอย่างถูกต้องจากวิทยากรที่มีความรู้ด้านสารต้องห้ามอย่างองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ทั้งในและต่างประเทศ สร้างความใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬาทุกส่วน

ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมจะสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปเผยแพร่สู่องค์กรตัวเองได้อย่างถูกต้อง และเห็นถึงความสำคัญในการได้รับบทลงโทษเมื่อเกี่ยวข้องกับสารต้องห้าม โดยการตรวจพบสารต้องห้ามในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากการใช้แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นักกีฬาหน้าใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาและได้รับความรู้เรื่องสารกระตุ้นให้ละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่นักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬาทุกคนต้องมีความเข้าใจ.