กรณีที่ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีโดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิบัติหน้าที่ในการจับและเคลื่อนย้ายนำช้างป่าพลายเจ้างา หรือที่รู้จักกันในชื่อ พลายไข่นุ้ย ไปไว้ในที่เหมาะสม ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และให้รายงานต่อศาลทุก 5 วัน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการเสนอต่อศาลก่อน ภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. เป็นต้นไป ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ว่า ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผอ.พื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กล่าวว่า ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือถึงศาลปกครองนครศรีธรรมราช เพื่อรายงานผลการปฏิบัติตามคำสั่งศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช ที่กำหนดให้เคลื่อนย้าย พลายไข่นุ้ย ออกจากพื้นที่ ภายใน 15 วัน ซึ่งตามแผนเดิมจะเคลื่อนย้ายพลายไข่นุ้ยไปยัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี แต่เนื่องจากการจับและเคลื่อนย้ายช้างป่า เป็นภารกิจที่มีความอันตราย ต้องใช้กำลังคน และอุปกรณ์จำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการ และจำเป็นต้องมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของชุมชนโดยรอบพื้นที่ที่จะนำช้างป่าไปปล่อย รวมถึงตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่รองรับและตำแหน่งที่จะนำช้างป่าไปปล่อย ทั้งในด้านความสมบูรณ์ของพื้นที่ (แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร) ความปลอดภัยของพื้นที่และการกระจายของประชากรช้างป่าประจำถิ่น การจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายช้างป่า ประกอบการเคลื่อนย้าย มาตรการรองรับเหตุฉุกเฉิน และแผนการติดตามหลังการปล่อย ทำให้การดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครอง ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน ไม่สามารถทำได้

นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า แต่เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา นำช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งกับราษฎร และเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช และตัวช้างป่า กรมอุทยานฯ โดย นายนรินทร์ ประหวนชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช ขอปรับแผนปฏิบัติการจับและเคลื่อนย้ายพลายเจ้างา หรือพลายไข่นุ้ย ออกไปเป็นระยะเวลา 32 วัน เพื่อเตรียมการเคลื่อนย้ายต่อไป

สำหรับแผนการเคลื่อนย้าย พลายไข่นุ้ย ซึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำหนังสือเสนอถึงศาลปกครองนครศรีธรรมราช ระบุว่าระหว่างวันที่ 25 ก.ค.-5 ส.ค. จะดำเนินการสำรวจและกำหนดจุดรับตัวพลายไข่นุ้ยด้วยรถบรรทุก, สำรวจพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เพื่อกำหนดพื้นที่ปล่อย รวมถึงสำรวจเส้นทางการเคลื่อนย้าย ระหว่างวันที่ 6-15 ส.ค. จัดเตรียมกำลังพล ยานพาหนะ และเวชภัณฑ์ และจะเข้าปฏิบัติการเคลื่อนย้ายพลายไข่นุ้ย ระหว่างวันที่ 16-19 ส.ค.

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากที่ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ผู้ฟ้องฯ ด้วยการให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการเคลื่อนย้ายพลายเจ้างา หรือพลายไข่นุ้ย ออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน โดยให้ทางกรมอุทยานฯ ดำเนินการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม และปรากฏว่า จะมีการนำพลายไข่นุ้ยไปปล่อยยังบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา อ.บ้านตาขุน จ. สุราษฎร์ธานี ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ส่วนใหญ่อยู่ในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการนำสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่ อย่างเจ้าพลายไข่นุ้ย เข้าไปในพื้นที่ทำด้วยความยากลำบาก เนื่องจากพลายไข่นุ้ยเป็นช้างป่า ไม่ใช่ช้างเลี้ยง ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ได้ยาก อาจจะเกิดอันตรายในขณะเคลื่อนย้ายได้ และต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ทั้งนี้ได้มีการเสนอแนวทาง ว่ากรมอุทยานฯ สมควรศึกษาการผลักดันพลายไข่นุ้ย ให้ออกจากพื้นที่ข้อพิพาทด้วยวิธีอื่น ที่ให้เป็นไปตามวิถีของสัตว์ป่า เนื่องพลายไข่นุ้ย เป็นช้างป่าที่ได้รับการติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียม จึงน่าจะง่ายต่อการติดตามเฝ้าระวังและผลักดัน

รายงานข่าวด้วยว่า ในขณะนี้ “พลายเจ้างา” หรือที่รู้จักในชื่อพลายไข่นุ้ย ยังคงออกอาละวาด สร้างความเดืดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเมื่อกลางดึกวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้เข้าทำลายทรัพย์สินที่อยู่ข้างบ้าน และพังประตูบ้านเลขที่ 86/3 หมู่ 11 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมือนช้างป่าทั่วไป ทำให้ชาวบ้านหวาดผวาอย่างหนัก

โดยนายทรงธรรม เชี่ยวชาญ เจ้าของบ้านระบุว่า ค่อนข้างหวาดกลัวเช่นกัน หากเผชิญหน้ากันไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่รอด โชคดีที่เข้ามาในบ้านไม่ได้ และการเข้ามาถึงบ้านในลักษณะนี้ ลองพิจารณาดูว่าเป็นครอบครัวของใครก็ได้ จะรู้สึกเช่นไร ทรัพย์สินที่เสียหายไปเมื่อคืนที่ผ่านมา เช่น เสาไฟฟ้าที่พาดสายเข้ามาในบ้าน คอมเพรสเซอร์แอร์ พังประตู และยืนยันว่าพลายไข่นุ้ย ได้สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง หากคิดเป็นมูลค่าแล้วหลายสิบล้านบาท ตลอด 2 ปีที่ผ่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากบ้านของนายทรงธรรม แล้ว พลายไข่นุ้ยยังได้เข้าตระเวนทำลายทรัพย์สิน พืชผลอาสินของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เช่น การรื้อบ้าน และลากตู้เย็นออกมา รื้อค้นหาของกินอย่างแสนรู้ และเป็นที่น่าสังเกตว่า พลายไข่นุ้ยจะกินอาหารในป่าน้อยมาก หรือเลือกกินไม่เหมือนช้างป่าทั่วไป เช่น การกินต้นกล้วย จะไม่กินกล้วยป่าเช่นช้างป่าทั่วไป แต่กลับมาเลือกกินต้นกล้วยในชุมชนที่เป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่แทน