วันที่ 16 ส.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาคำร้องที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กรณีรัฐสภา มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม (รศ.พรชัย เทพปัญญา ที่ 1 ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร ที่ 2 และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ และคณะ ที่ 3) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม และมาตรา 23 โดยผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเรียนที่ 1 และที่ 2 เป็นประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเลือกพรรคก้าวไกลซึ่งมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นบุคคลเพียงรายชื่อเดียวที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และผู้ร้องเรียนที่ 3 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล การที่รัฐสภามีมติดังกล่าว ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม และขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ภายหลังการประชุม ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ แต่บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพโดยตรง สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่งให้สภาพิจารณา ให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอ และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88 เท่านั้น ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ 2560 ก่อตั้งขึ้น เป็นหลักการใหม่ของกรปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 3 เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคล ที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบมีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ร้องทั้ง 3 ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขอให้คำสั่งชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป จึงเป็นอันตกไป.