เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 1676/2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอาญากรุงเทพใต้ยื่นฟ้อง นายอานนท์ นำภา ทนายความแกนนำนักเคลื่อนไหวม็อบราษฎร ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง

จากกรณีที่จำเลยได้จัดการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ในกิจกรรม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน” หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564

โดยศาลพิเคราะห์พยานคู่ความทั้งสองฝ่ายรับฟังได้ว่า พยานโจทก์ ทั้งผู้ที่ได้ยินได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุและที่ได้ทราบ และอ่านคำกล่าวปราศรัยของจำเลยในภายหลัง ล้วนเบิกความให้ความเห็นสรุปรวมว่า จำเลยกล่าวใส่ความสถาบันเบื้องสูงว่า นำเอาทรัพย์สินสาธารณะของประชาชนใช้ร่วมกันไปเป็นของตนเอง ทำให้ประชาชนมองว่า ทรงโลภ เสื่อมศรัทธาจำเลยกล่าวหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์แม้ว่าจำเลยจะเบิกความว่า จำเลยวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา พูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และออกมาเรียกร้องให้มีการนำเข้าวัคชีน แต่จะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ ไม่อาจถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวเองเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อความคำปราศรัยของจำเลยตามแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยมุ่งหมายกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โดยตรง หากจำเลยมุ่งหมายจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จำเลยก็หาต้องกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในลักษณะดังกล่าวในคำปราศรัยด้วยไม่ ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่จำเลยจะต้องยกเอาสถาบันอันเป็นที่เคารพของประชาชนมากล่าวเปรียบเทียบเปรียบเปรยในทางที่เสื่อมเสีย

ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความคำปราศรัยและบริบทในการอ้างพระนามในคำปราศรัยแล้ว เห็นว่าจำเลยเจตนาให้ประชาชนหรือผู้ที่ได้ฟังคำปราศรัยเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความโลภ เป็นการใส่ความทำให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ด้อยค่า ข้ออ้างของจำเลยที่นำสืบดังกล่าวขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษได้ทำนองเดียวกันกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 และมาตรา 330 การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9, 18 พ.ร.บ.โรคติดต่อฯมาตรา 34, 51 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 9 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพรโรคซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 เดือน ฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 150 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพรโรคซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 20 วัน ฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 100 บาท คงจำคุกรวม 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท ให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 2841/2566 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 56/2567 ของศาลอาญา ริบเครื่องปั่นไฟ จำนวน 1 เครื่อง ลำโพง 8 ตัว เพาเวอร์แอมป์ 1 เครื่อง เครื่องผสมสัญญาณเสียง 1 เครื่อง เครื่องรับสัญญาณไมโครโฟน 1 ตัว และไมโครโฟนไร้สาย 2 ตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเพจ “TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ได้รายงานว่า ปัจจุบันนายอานนท์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่ในคดี ม.112 รวม 3 คดีด้วยกัน รวมโทษจำคุกหลังลดหย่อนของทั้ง 3 คดีแล้ว อยู่ที่ 10 ปี 20 วัน

ทั้งนี้ อานนท์ ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการปราศรัย และโพสต์ข้อความในช่วงปี 63-64 รวมทั้งสิ้น 14 คดี.