จากกรณีโลกออนไลน์เกิดกระแสวิจารณ์อย่างดุเดือดอยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากที่ร้านอาหารชื่อดัง ได้ออกมาแจ้งระบุว่า จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากับเมนูปังชา ดังนั้นจึงได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข จนกลายเป็นกระแสวิจารณ์กันเป็นอย่างมาก อีกทั้ง “ปังชา” ยังเป็นชื่อเมนูที่หลายร้านในประเทศไทยเลือกใช้ จนเกิดเป็นความสงสัย ว่ายังคงสามารถใช้ชื่อดังกล่าวได้หรือไม่ หรือหากใช้แล้ว จะถูกฟ้องร้องตามมาภายหลังหรือไม่นั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค. แฟนเพจชื่อดังของทนายหลากหลายคน ได้ออกมาอธิบายถึงเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงข้อกฎหมายดังกล่าวกันเป็นอย่างมาก โดยทางแฟนเฟซบุ๊ก บันทึกทนายน้อย:The Little Lawyer Diary มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ พร้อมแนบเอกสารลิขสิทธิ์ว่า ในการจดทะเบียนของทางร้านดังกล่าว โดยทางเพจระบุว่า “เฉพาะโลโก้ที่อยู่ในกรอบสีฟ้าเท่านั้น ที่เอาไปใช้ทั้งหมดในกรอบจึงจะเป็นการละเมิด แต่ถ้าโลโก้อื่น แม้จะมีคำว่า “ปังชา” อยู่ในโลโก้ด้วย ก็ไม่ผิดละเมิดเครื่องหมายการค้า”

โปรดดูข้อจำกัดสิทธิในกรอบสีเหลือง “ข้าพเจ้าไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้ อักษรโรมันและอักษรไทยทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนเครื่องหมาย ยกเว้นคำว่า KAM” ชัดเจนนะขอรับ…..ว่าสละสิทธิไว้แล้ว ถ้าไม่สละสิทธิก็จะจดคำนี้ไม่ได้ เพราะเป็นคำทั่วไป

“ดังนั้น การไล่หว่านโนติสเรียกค่าเสียหายจำนวนที่สูงมากกกกกกก…. จากร้านเล็กร้านน้อยที่มี คำว่า “ปังชา” อยู่ในชื่อ/ในเมนู ผนวกกับการออกมาโพสต์ถึงการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแบบคลุมเครือจงใจให้เข้าใจผิด และอ้างสิทธิเกินจริงจากเพจ official ของธุรกิจ จะให้มองเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตได้หรือขอรับ??????”

นอกจากนี้ ทาง “ทนายนิด้า” ยังได้อธิบายเพิ่มเติมผ่านแฟนเพจด้วยว่า “ถ้าตามเอกสารฉบับนี้ มีความหมายว่า มีการยื่นคำขอจด เครื่องหมายนะคะ เครื่องหมายก็คือรูปภาพในกรอบสีเขียว ก็คือยื่นคำขอจดรูปภาพนี้ทั้งภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้หญิง ถ้วยชา พร้อมคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ปรากฏในภาพด้วย ในหมวดรายการสินค้าและบริการตามกรอบสีแดง” ในภาพปรากฏประเด็นปัญหา คือคำว่า “ปังชา” ที่เป็นข้อโต้เถียงกันในขณะนี้ว่า เจ้าของใช้ได้คนเดียวในหมวดที่จดไว้นี้หรือไม่

“คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะมีข้อจำกัดในการจดฯ ภาพในกรอบสีเขียว ดันมีคำที่ประชาชนทั่วไปควรจะสามารถใช้ได้ด้วย นั่นก็คือคำว่า “ปังชา” อันที่จริงก็ ชาไทยด้วย ก็คำมันสามัญ ที่ใช้กันมาตั้งแต่ร้านขายโอเลี้ยงแล้ว” ผู้ขอจดจึงต้องสละสิทธิที่จะใช้คนเดียว ตามหลักฐานที่ขีดเส้นใต้สีฟ้าไว้ การสละสิทธิ์มีความหมายว่าไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความที่ขอสละสิทธินั้นทั้งหมด แต่คนยื่นคำขอก็ยังสามารถใช้ได้นะคะ แต่ไม่ใช่คนเดียว แต่คนอื่นที่จะใช้ได้ ถ้าหากนำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ตามกรอบสีเขียวและเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกัน ยังสามารถห้ามได้อยู่

จากประสบการณ์ในการจดให้ลูกความ ถ้าไม่สละสิทธิที่จะใช้แต่เพียงผู้เดียว ในคำที่เป็นคำสามัญ ชาวบ้านชาวช่อง เขาใช้กันโดยทั่วไป ใช้มานาน ไม่ใช่คำประดิษฐ์พิสดารอะไร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็คงจะไม่รับจดให้ เพราะมันเอาเปรียบคนอื่น ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามคำขอนี้ คำว่า “ปังชา” ประชาชนทั่วไปยังสามารถใช้ได้โดยสุจริต โดยไม่มีสิทธิถูกฟ้องได้ “แต่อย่าไปใช้บนรูปลักษณ์ของเครื่องหมายในกรอบสีเขียว ให้มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน โดยมีเจตนาฉกฉวยประโยชน์ให้เจ้าของเครื่องหมายเสียหาย แบบนี้มีสิทธิถูกฟ้องได้ค่ะ”

คำขอนี้ ขอจดเครื่องหมายบริการในหมวด ตามกรอบสีแดง ตามรูปที่ขอจดทะเบียนไม่ได้มีคำภาษาไทยว่า “ปังชา” มีแต่เพียงคำภาษาอังกฤษ ดังนั้นเจ้าของเครื่องหมายนี้ยิ่งไม่สามารถห้ามประชาชนไม่ให้ใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขาย ชาไข่มุก น้ำแข็งไส เครื่องดื่มชา บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มได้ “ประชาชนทุกคนยังสามารถใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขายสินค้าได้เช่นเดิม เจ้าของเครื่องหมายนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องประชาชนคนอื่นที่ใช้คำว่า “ปังชา”ได้ จบ!”

อย่างไรก็ตาม ทางด้านแฟนเพจกฎหมายอย่าง “Dr. Pete Peerapat” ยังได้เผยถึงข้อกฎหมาย พร้อมยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีกด้วยว่า “พอดีมีคน tag มาถามว่า เขาเป็นผู้เสียหายถูก notice ให้หยุดการใช้ชื่อร้านว่า #ปังชา และเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาท แบบนี้เขาใช้ชื่อร้านว่าปังชาได้หรือไม่”

“คำตอบในเรื่องนี้จะอยู่ที่ มาตรา 6 (1) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าครับ มาตรา 6 เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ (1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ”

คำว่า ลักษณะบ่งเฉพาะ หมาย ถึงเครื่องหมายนั้นต้องไม่มีลักษณะธรรมดาสามัญของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ แปลว่า ถ้าเราทำ บิงซู หรือ น้ำแข็งไส แล้วใส่ขนมปัง ราดด้วยชาเย็น ลักษณะสามัญ ของมัน คือ ขนมปัง ชาเย็น น้ำแข็งไส แปลว่า ถ้าเราจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ ต้องไม่มีลักษณะสามัญของสินค้าเหล่านั้น

แต่ถ้าเราจะจดโดยมีคำสามัญลงไปด้วย เราก็จะต้อง #สละสิทธิ คำดังกล่าว คือเราจะไปหวงกันไม่ให้คนอื่นใช้คำเหล่านั้นไม่ได้ครับ สิ่งที่จะจดเครื่องหมายการค้าได้ต้องเป็นพวกรูป ฟอนต์ ที่มีลักษณะเฉพาะของทางร้านเท่านั้น

ดังนั้น ในกรณีนี้ ผมเห็นว่าทางร้านยังสามารถใช้ชื่อร้านเดิมต่อไปได้ ซึ่งวันนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ออกมาช่วยให้ความรู้ในเรื่องด้วยเช่นกันครับ “ส่วนเรื่องค่าเสียหาย ในเมื่อเรามีสิทธิใช้ชื่อร้านว่าปังชา เขาก็เรียกค่าเสียหายไม่ได้ครับ ถ้าถูกฟ้องจริง ก็สามารถไปต่อสู้ที่ศาลได้แน่นอนครับ”

“กรณีนี้ก็คล้ายกับชื่อร้าน #โคขุนโพนยางคำ ที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ เพราะ ขายเนื้อย่าง จะไปจดคำว่า “โคขุน” ซึ่งไม่ใช่ลักษณะบ่งเฉพาะไม่ได้ ทำให้ใคร ๆ ก็ใช้ชื่อร้านโคขุนได้ ร้านต้นตำรับ จึงต้องมีชื่อเจ้าของมาต่อท้ายมา เพื่อทำให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @บันทึกทนายน้อย:The Little Lawyer Diary,@ทนายนิด้า,@Dr. Pete Peerapat