เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ (สอช.) ได้นัดหมายสื่อมวลชน แถลงข่าวเปิดโปงขบวนการค้าไม้ข้ามชาติ โดยใช้เงินซื้อเจ้าหน้าที่รัฐ หลังเกิดเหตุการณ์ขบวนการค้าไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ป่า และไม้มีค่าของประเทศ ถูก “ขบวนการค้าไม้” ลักลอบตัดในโรงเรียน วัด พื้นที่ราชพัสดุ ป่าสงวนแห่งชาติ จนถึงในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งยังพบว่า มี “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หลายทุกหน่วยงาน เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งเรียกรับ และอำนวยความสะดวกให้กลุ่มขบวนการค้าไม้ รวมถึงขบวนการค้าสัตว์ป่า เกือบทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ที่สำคัญยังพบมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางกลุ่ม ตรวจรับรองไม้เถื่อน ทำเอกสารเท็จให้บรรดากลุ่มนายทุน เพื่อส่งออกไม้มีค่าจากประเทศไทยไปต่างประเทศ โดยมีนายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้รับเรื่อง

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า วันนี้มาติดตามคดีขบวนการค้าไม้ข้ามชาติ โดยไม้เหล่านี้ลักลอบตัดมาจากอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ได้มีการแก้กฎหมายตาม “มาตรา 7 ว่าด้วย ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม”

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า การจับในแต่ละครั้ง ทำให้ทราบว่า ไม้แต่ละอย่างที่นำกลับมานั้นมีเอกสาร คอยชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดี ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่า เป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบที่ลึกลงไป ทำให้เห็นว่าเอกสารต่างๆ ที่ได้มานั้นไม่ถูกต้อง จึงได้มีการตั้งข้อสงสัย ถึงการจับกุมในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ในแต่ละครั้งที่มีการจับกุมไม้ต่างๆ เหล่านี้ คดีจะอยู่ที่กรมป่าไม้ หน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้จะเป็นเจ้าของคดี จากการเฝ้าติดตามมาโดยตลอด ทำให้เห็นถึงกลไกในการรับรอง และกลไกในการรับสิทธิ ซึ่งตนได้ทราบมาก่อนแล้วว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกซื้อตัวไป มีเอี่ยวในการรับรองคดี

“วันนี้ตนต้องการให้ทุกคนมองเห็นว่า จากการเฝ้าระวังภายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาโดยตลอด ทำให้ทราบถึงการซื้อตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดี โดยมีกลุ่มที่พบแล้วเป็นกลุ่มของ น.ส.เอ (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นตัวการหลักในการโอนเงิน” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ ยังได้เปิดเผยถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ร่วมขบวนการ 29 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่สังกัดกรมป่าไม้ทั้งสิ้น 16 ราย โดยมีการเคลียร์เงินจำนวน 8.5 ล้านบาท รายการโอนจ่าย 124 รายการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 8 ราย มีการโอนเงิน 61 รายการ 2.4 ล้านบาท และ เจ้าหน้าที่จากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ราย มีรายการโอนเงิน 43 รายการ เป็นเงิน 3.1 ล้านบาท และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการ 1 ราย ได้รับเงินจากการเคลียร์คดี 2.7 แสนบาท และจากหน่วยงานความมั่นคง 1 ราย ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรับเคลียร์คดี

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบแล้ว พบบัญชีเป็นการทำธุรกรรมทางการเงินของเครือข่าย น.ส.เอ ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางบัญชีที่ผิดปกติเป็นจำนวน 7 บัญชี ของบุคคลทั้ง 7 ราย มีลักษณะต้องสงสัยว่าอาจเป็นบัญชีม้า หรือบัญชีที่ใช้รับเงินแทนบุคคลอื่น ซึ่งอาจเป็นการจ่ายส่วยหรือไม่ เนื่องจากมีการโอนเงินเป็นประจำทุกเดือน และยอดเงินในการโอน พบยอดเงินที่รับโอนรวมกันเป็นเงินกว่า 41 ล้านบาท ทั้งในส่วนนี้ยังพบมีจำนวน 1 ราย เกี่ยวข้องกับศุลกากรอีกด้วย

“โดยเครือข่ายลักลอบค้าไม้กลุ่มนี้ ครอบคลุมแทบทุกภาค ซึ่งโซนตะวันตกนั้น จะมีจุดพักไม้อยู่ที่ร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งจะลำเลียงไม้ผ่านทาง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ชลบุรี ทั้งนี้ในจุดของภาคอีสานนั้น เป็นไม้ที่ได้มาจากกลุ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยมีจุดพักไม้อยู่ที่ร้านค้าไม้แห่งหนึ่งใน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งใช้วิธีลำเลียงผ่านทางชายแดนที่ติดกับแม่น้ำโขง สำหรับบริเวณภาคเหนือ มีจุดพักไม้อยู่ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นไม้ที่ได้มาจากกลุ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์อุตรดิตถ์ และกลุ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์เชียงใหม่ โดยลำเลียงไม้ผ่านทางชายแดน จ.เชียงราย และชายแดน จ.อุตรดิตถ์” ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าว.