เมื่อวันที่ 10 ก.ย. “กรมอุตุนิยมวิทยา” ได้เผยแพร่พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (10 ก.ย. 66) ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น” ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 11 – 16 ก.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนในช่วงวันที่ 11 – 16 ก.ย. 66 จะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
สถานการณ์แผ่นดินไหว(ในช่วงวันที่ 9 – 10 กันยายน 2566) ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ขนาด 4.3, 4.0 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย
ขนาด 2.1, 2.8, 1.7 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา
ขนาด 4.5 มีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลยูนนาน, ประเทศจีน
ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @กรมอุตุนิยมวิทยา