ความคืบหน้าการไล่ล่าแก๊งตัดไม้พะยูง จ.กาฬสินธุ์ ที่ยังเย้ยกฎหมายไม่จบสิ้น โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่และเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบในโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หลังภาคประชาชนแจ้งว่ามีการตัดไม้พะยูง ด้วยวิธีประมูลขายให้พ่อค้าอ้างนำเงินเข้าแผ่นดิน 4  ต้น ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2566 นับเป็นจุดที่ 7 พฤติกรรมคล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนหลายแห่ง มี น.ส.วรรณกานต์ สิมมา ผอ.โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ได้คณะเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบไม้พะยูงที่ยังเหลือกว่า 10 ต้น ที่มีการนำผ้าเหลืองมาพันเอาไว้ ตามประเพณีพื้นบ้านอีสาน เรียกว่าบวชต้นไม้พะยูง และยอมรับว่ามีการประมูลขายไม้พะยูงไปจริง ตามคำแนะนำของผู้บริหาร สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และตัวแทนธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์

ทั้งนี้ น.ส.วรรณกานต์ กล่าวว่า ตนย้ายมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนในปี 2563 มีคนมาติดต่อขอซื้อไม้พะยูงหลายราย แต่ได้ปฏิเสธไป เพราะเราเป็นโรงเรียนอนุรักษ์ต้นไม้ กระทั่งในปี 2565 ไม้พะยูงยืนต้นตาย 4 ต้น อายุกว่า 50 ปี ไม้ยางนา 1 ต้น จึงประชุมขอมติกรรมการสถานศึกษา และ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กระทั่งทราบภายหลังว่า สพป. และธนารักษ์พื้นที่เข้าไปดำเนินการไปตัดขาย 17 ท่อน ส่วนไปประมูลขายอย่างไรไม่ทราบ แต่ก็ได้อธิบายให้กรรมการสถานศึกษาและชาวบ้านทราบว่า ทางเขตและธนารักษ์ขายไม้เพื่อนำเงินเข้าหลวง

“กระทั่งวันที่ 2 พ.ค. 66 มีคนร้ายลอบตัดไม้พะยูง 2 ต้น ได้ไปแจ้งความที่ สภ.โนนสูง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาตรวจยึดของกลางและแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลาง 3 คน ประกอบด้วยเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส นายช่างสำรวจอาวุโส ส่วนจะเป็นใครนั้น ปรากฏในหนังสือคำสั่งแต่งตั้งของผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 รวมทั้งตนซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ก็ทราบเรื่องแค่นี้ ส่วนจะมีการประเมินราคาขายเท่าใด ใครเป็นคนรับซื้อ ตนไม่ทราบ เอกสารอยู่ที่ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ถึงแม้จะมีหลักฐานปรากฏในหนังสือแต่งตั้ง ตนไม่ขอพูด เพราะเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร”

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนฝ่ายความมั่นคงจังหวัดกาฬสินธุ์รายหนึ่ง ระบุว่า กรณีนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านรักต้นไม้ หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเอกสารเป็นข้อมูลลับมาให้ พบเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่าง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ในการขออนุญาต และให้อนุญาตตัดไม้เหมือนในโรงเรียนหลายแห่ง ส่วนหนังสือขอจำหน่ายไม้พะยูงในโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด มีจำนวน 3 ฉบับ โดย “ฉบับที่ 1” เป็นหนังสือของทางราชการ ลงวันที่ 27 มิ.ย. 66 โดยเป็นหนังสือจากธนารักษ์พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โต้ตอบกับ สปพ.กาฬสินธุ์ เขต 2 ลงนามโดยนายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เรื่อง อนุญาตให้จำหน่ายต้นไม้ ที่ได้จากที่ราชพัสดุ 17 ท่อน ของโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์  

โดยวิธีขายทอดตลาด เพื่อนำเงินเป็นรายได้แผ่นดิน ในนามธนารักษ์ “ฉบับที่ 2” ลงวันที่ 4 ก.ค. 66 เป็นหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลางจำนวน 3 คน จากการดูรายชื่อพบว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการฯ เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่โดนเด้ง กรณีไม้พะยูงเทศบาลตำบลอิตื้อหาย ส่วนอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์กาฬสินธุ์ และอีกคนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ส่วนหนังสือ “ฉบับที่ 3” เป็นหนังสือรายงานรื้อถอนและขนย้าย โดยมีการแจ้งส่งสำเนาสัญญาซื้อขายไม้พะยูงจำนวน 4 ต้น ทั้งหมดจะต้องส่งเรื่องให้กรมธนารักษ์และต้นสังกัดหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป.