กรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา ต่อด้วยพบมีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนขาย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมแล้ว 11 แห่ง ในพื้นที่กาฬสินธุ์ โดยทุกแห่งเป็นการตัดแบบใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ขณะที่นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าคณะตรวจสอบเชิงลึก และหัวหน้าชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กำลังดำเนินการตรวจสอบตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

โผล่รายวัน! ตัดไม้พะยูงรร.ขายแห่งที่ 11 จี้ สตง. สอบเส้นทางรายรับ ‘ธนารักษ์’

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า มีเหตุตัดไม้พะยูงในโรงเรียนชุมชนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ ต.หมูม่น อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ นายอดิศร วิทูรศิลป์ นายอำเภอสมเด็จ ได้มอบหมายให้ พ.จ.ต.เดชากร จิตจักร์ ปลัดอำเภอสมเด็จ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

พ.จ.ต.เดชากร กล่าวว่า กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนแห่งนี้ ทางอำเภอเพิ่งทราบวันนี้ ซึ่งครูโรงเรียนแจ้งว่า มีการตัดไม้พะยูงจริง เมื่อเดือน ก.พ. 66 ที่ผ่านมา เริ่มแรกมีการตัดไม้พะยูงที่โค่นล้ม 2 ต้น และต่อมามีการดำเนินการตัดไม้ในโรงเรียนจำหน่ายอีก 7 ต้น รวมเป็น 9 ต้น ตามเอกสารที่ทางโรงเรียนนำมาแสดง โดยมีทั้งหนังสือโต้ตอบระหว่างโรงเรียนกับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องและภาพถ่ายก่อนตัดไม้พะยูง ทั้งนี้หลังจากตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ก็จะได้รายงานนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ทราบว่าไม้พะยูงที่ถูกตัดไปเป็นไม้ที่ทางโรงเรียนและชาวบ้านร่วมกันปลูกไว้เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมา ยืนต้นอยู่ในบริเวณที่เป็นโซนอนุรักษ์พันธุ์ไม้ เพื่อให้ร่มเงาและดูดซับ PM 2.5 หลายต้นไม่ได้อยู่ใกล้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเสี่ยงต่อการโค่นล้มให้ได้รับอันตราย และไม่เคยมีปัญหาถูกคนร้ายลักลอบตัดมาก่อนเลย ก่อนทำการตัดไม้พะยูงขาย เมื่อเดือน ธ.ค.65 มีไม้พะยูงโค่นล้มใกล้บ้านพักครู 2 ต้น ต่อมาเห็นมีเจ้าหน้าที่ของธนารักษ์กาฬสินธุ์ เข้ามาติดต่อกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์

ครูโรงเรียนชุมชนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ ให้ข้อมูลว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ธนารักษ์มาติดต่อกับทางโรงเรียน ยังได้ทำหนังสือโต้ตอบระหว่างโรงเรียนกับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ทั้งหนังสือขออนุญาตตัด และให้อนุญาตตัด รวมทั้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลาง ซึ่งทางโรงเรียนนำมาแสดงให้ฝ่ายปกครองดูทุกหน้า แต่ยังไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพหรือถ่ายเอกสารให้ อ้างว่าผู้อำนวยการโรงเรียนไม่อยู่ หากอยากได้ให้ทำหนังสือขอมา เพราะเป็นหนังสือของทางราชการ

ทั้งนี้ จากการตรวจเอกสารการขออนุญาตตัดไม้ในโรงเรียนแห่งนี้ ไม่มีหนังสือขออนุญาตไปทางผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ธนารักษ์บอกว่า ธนารักษ์มาเอง ยังไงก็อนุญาตให้ตัดขายอยู่แล้ว หากขออนุญาตไปทางผู้อำนวยการเขตการศึกษา เขตการศึกษาก็จะเสนอเรื่องขออนุญาตกับธนารักษ์อยู่ดี ดังนั้นการตัดขายไม้พะยูงครั้งนี้ จึงรู้กันระหว่างธนารักษ์-โรงเรียน-พ่อค้าซื้อไม้ ส่วนผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ไม่ทราบเรื่องด้วย โดยมีการตกลงซื้อขายไม้พะยูง 9 ต้น ลงใบเสร็จรับเงินราคา 58,000 บาท ซึ่งได้สร้างความสงสัยให้กับชาวบ้าน จนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ราคาซื้อขายจ่ายจริงอาจจะจำนวนมากกว่านี้หลายเท่าตัว

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบตอไม้พะยูงครั้งนี้ เจ้าหน้าที่หลายคนถึงกับผงะ แปลกใจ เพราะเห็นมีการนำแผ่นพลาสติกหนาหรือที่เรียกว่าเต้นท์ผ้าใบ มาวางทับตอไม้พะยูงไว้ ซึ่งไม่ทราบเจตนาเหมือนกันว่าทำอย่างนั้นทำไม เหมือนเป็นการซุกซ่อนเงื่อนงำอำพรางอะไรสักอย่าง หรือต้องการปิดทับไว้เพื่อให้ตอไม้พะยูงตายไป โดยไม่ยอมให้แตกกิ่งก้านออกมาอีก และกับข้อสงสัยอีกประการ คือการขายไม้พะยูงในโรงเรียนชุมชนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์เพื่อนำรายได้เข้าหลวง ไม่มีในรายงานของนายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่แจ้งต่อคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า จ.กาฬสินธุ์ (คปป.จว.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.66 ที่มีนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุม โดยแจ้งแค่ 5 แห่งคือ โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ โรงเรียนหนองโนวิทยาคม โรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว และโรงเรียนคำไฮวิทยา

หลังจากทราบข้อมูลตัดไม้พะยูงในโรงเรียนชุมชนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ดังกล่าว ฝ่ายปกครองได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อเท็จจริง กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ในตัว อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ ทราบว่า เรื่องที่โรงเรียนชุมชนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์จำหน่ายไม้พะยูงดังกล่าว ทาง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ไม่ทราบเรื่องจริงๆ เพราะไม่เห็นมีหนังสือจากผู้อำนวยการโรงเรียน และไม่ได้รับการประสานจากธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์เลย เพิ่งมาทราบภายหลัง เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก อีกอย่าง เพราะเห็นเป็นเรื่องของโรงเรียนกับธนารักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และเป็นเจ้าของทรัพย์ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 จึงไม่ได้ดำเนินการอะไร

ทั้งนี้ จากข้อมูลการตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุและในโรงเรียน พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ซึ่งได้แจ้งเบาะแสเข้ามายังฝ่ายความมั่นคง ในรอบเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ รวมแล้ว 12 แห่ง ประกอบด้วย (1) ลักลอบตัดที่สถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ 1 ต้น, (2) ลักลอบตัดก่อนขออนุญาตตัดที่โรงเรียนคำไฮวิทยา 22 ต้น (3) ลักลอบตัดและขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม 9 ต้น (4) ลักลอบตัดที่โรงเรียนห้วยเม็กวิทยา 1 ต้น, (5) ลักลอบตัดที่สถานีวนวัฒนวิจัยกาฬสินธุ์ 1 ต้น (6) ลักลอบตัดและขออนุญาตตัดที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น (7) ลักลอบตัดและขออนุญาตที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว 6 ต้น (8) ลักลอบตัดที่โรงเรียนชุมชนดอนยูงวิทยายน 1 ต้น (9) ลักลอบตัดที่โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว 1 ต้น (10) ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหนองกุงไทย 7 ต้น (11) ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนกมลาไสย สังกัด สพม.กาฬสินธุ์ และล่าสุด แห่งที่ (12) โรงเรียนชุมชนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3

สำหรับกรณีตัดไม้พะยูงที่โรงเรียนชุมชนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ ซึ่งนับเป็นแห่งที่ 12 โดยฝ่ายความมั่นคงทราบจากการแจ้งเบาะแสของชาวบ้าน จึงอยากเรียกร้องคณะตรวจสอบเชิงลึก และเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาตัดไม้ในโรงเรียน รวมทั้งองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.-ปปท.และ สตง. ลงพื้นที่ตรวจสอบ เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดลงโทษตามกฎหมาย เพราะจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลายแห่งมีข้าราชการเกี่ยวข้อง เรื่องเกิดมานานและมีกรณีเดียวกันเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ยังไม่มีสามารถเอาผิดกับใครได้เลย

เหตุตัดไม้พะยูงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นหลายแห่งใน จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ก่อนขออนุญาตตัด มีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์มาติดต่อกับทางโรงเรียน จากนั้นมีหนังสือขออนุญาตและให้อนุญาต โต้ตอบระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ต่อมามีนายช่างอาวุโสและเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาทำการประเมินราคา ก่อนทำสัญญาซื้อขายกับพ่อค้า ซึ่งที่โรงเรียนไหนๆที่มีการตัดไม้พะยูงขายเป็นไปในลักษณะเดียวกัน อย่างที่เรียกว่าหลักฐานตัวเดิม เจ้าหน้าที่คนเดิม เป็นบุคคลคนเดียวกันกับที่ปรากฏตัวในหลายโรงเรียน และปรากฏชื่อในเอกสารประกอบการขออนุญาตและอนุญาตขายไม้พะยูง จาก 3 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อให้ว่า “แก๊งมอดไม้3เซียน”