เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากเครือข่ายภาคประชาชน ว่าได้ส่งข้อมูลการประเมินราคาไม้พะยูงอีกแห่งหนึ่งให้กับฝ่ายความมั่นคง เพื่อส่งต่อไปยังคณะทำงานตรวจสอบเชิงลึก และเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ซึ่งเป็นการรับแจ้งเป็นแห่งที่ 11 ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. นี้ ที่มีการตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุจำหน่าย โดยมีรายชื่อของเจ้าหน้าที่ธนารักษ์คนเดิม ปรากฏอยู่ด้วย

เอกสารลับหลุดแห่งที่ 10 ขออนุญาต ‘ธนารักษ์’ ตัดไม้พะยูงในรร.ขาย

แหล่งข่าวระบุว่า ข้อความในหนังสือดังกล่าว มีต้นทางจากสำนักงานพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กาฬสินธุ์ ลงวันที่ 11 ม.ค. 66 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลาง จำหน่ายไม้พะยูงในที่ราชพัสดุ โดยหนังสือฉบับดังกล่าว ส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนกมลาไสย เนื้อหาระบุว่าตามที่โรงเรียนกมลาไสย ได้ดำเนินการตัดต้นไม้พะยูงซึ่งโค่นล้ม เนื่องจากพายุฝนรุนแรง และตัดกิ่งไม้พะยูง เนื่องจากยื่นออกไปนอกบริเวณโรงเรียน สพม.กาฬสินธุ์ พิจารณาแล้ว อนุญาตให้จำหน่ายไม้พะยูงในที่ราชพัสดุได้ตามที่ขออนุญาต พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลางต้นไม้ในที่ราชพัสดุเพื่อประมูลขาย ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ จากการดูรายชื่อกรรมการประเมินราคากลางดังกล่าว 1 ใน 3 ยังมีชื่อของเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ คนที่เคยปรากฏชื่อในการเป็นกรรมการประเมินราคาไม้พะยูงหลายโรงเรียนด้วย

นายนิยม กิติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การปรากฏชื่อของเจ้าหน้าที่ธนารักษ์คนดังกล่าว ซึ่งเคยปรากฏในคำสั่งหลายโรงเรียน ในฐานะกรรมการประเมินราคากลาง สวนทางกับคำชี้แจงของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ทางวาจาและหนังสือชี้แจงว่า ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับการประเมินราคาไม้พะยูงในโรงเรียน ขณะที่มีหลักฐาน ทั้งเอกสารและภาพถ่าย ที่ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และชาวบ้าน รวมทั้งแหล่งข่าวยืนยันตัวบุคคล แต่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังปฏิเสธอย่างเดียว ทำแค่ส่งเอกสารชี้แจง ซึ่งไม่ครอบคลุมอีกหลายกรณี ตามที่ภาคประชาชน เครือข่ายรักษ์ไม้พะยูงและทรัพยากรธรรมชาติ แจ้งเบาะแสเข้ามา ทั้งนี้ เพราะมีหลักฐานและพยานแวดล้อมยืนยันหลายคน

“เรื่องเกิดขึ้นกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา เอฟซีไม้พะยูงและคนรักษ์ไม้พะยูงในโรงเรียนจึงตกอยู่ในอาการงุนงง ที่เรื่องยังไม่ขยับถึงไหน แม้แต่เดี๋ยวนี้ ทั้งเลขาธิการ สพฐ. และอธิบดีกรมธนารักษ์ ตลอดทั้ง ป.ป.ช., ป.ป.ท. และองค์กรอิสระยังปิดปากเงียบ ไม่มีรายงานชี้แจงผลการตรวจสอบใดๆ เกี่ยวกับคดีไม้พะยูงออกมาอีก ชาวบ้าน รวมทั้งครู นักเรียน จึงฝากความหวังไว้กับคณะทำงานเชิงลึก ที่จะทำการตรวจสอบย้อนหลัง และเจ้าหน้าที่จุดตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ที่ทาง จ.กาฬสินธุ์ โดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าคณะตรวจสอบเชิงลึก และหัวหน้าชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง กำลังดำเนินการอยู่ และนอกจากนี้ ยังทราบว่ามีหลายคน อยากเรียกร้องไปถึง สตง. ให้ลงมาดูปัญหานี้ด้วย โดยเฉพาะตรวจสอบเส้นทางรับเงินรายได้จากการขายไม้พะยูงของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เพราะดูๆ แล้ว เรื่องนี้เชื่อว่ามีคนของรัฐเกี่ยวข้องหลายคน และคาดว่าจะมีอีกหลายแห่งทั้ง 4 เขตการศึกษาใน 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ คือ สพป.เขต 1, เขต 2, เขต 3 และ สพม.กาฬสินธุ์” นายนิยม กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุและในโรงเรียน พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ซึ่งได้แจ้งเบาะแสเข้ามายังฝ่ายความมั่นคง ในรอบเดือน ส.ค.-ก.ย. นี้ รวมแล้ว 11 แห่ง ประกอบด้วย (1) ลักลอบตัดที่สถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ 1 ต้น, (2) ลักลอบตัดก่อนขออนุญาตตัดที่โรงเรียนคำไฮวิทยา 22 ต้น (3) ลักลอบตัดและขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม 9 ต้น (4) ลักลอบตัดที่โรงเรียนห้วยเม็กวิทยา 1 ต้น, (5) ลักลอบตัดที่สถานีวนวัฒนวิจัยกาฬสินธุ์ 1 ต้น (6) ลักลอบตัดและขออนุญาตตัดที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น (7) ลักลอบตัดและขออนุญาตที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว 6 ต้น (8) ลักลอบตัดที่โรงเรียนชุมชนดอนยูงวิทยายน 1 ต้น (9) ลักลอบตัดที่โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว 1 ต้น (10) ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหนองกุงไทย 7 ต้น และล่าสุด แห่งที่ (11) ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนกมลาไสย สังกัด สพม.กาฬสินธุ์ ขณะนี้ไม่พบเอกสารระบุจำนวนต้น และราคาประเมินขาย ชาวบ้านจึงเรียกร้องคณะทำงานเชิงลึก และเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วย เพราะกลัวเงินแผ่นดินจะสูญหาย เนื่องจากไม่เห็นธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์รายงานเข้ามาเลย