เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) มีการจัดงาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในช่วงเช้ามีพิธีเปิดการประชุมวิชาการทางวัฒนธรรม “วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ 13” และกิจกรรมการบรรยาย การเสวนาทางวิชาการมรดกภูมิปัญญาที่เตรียมนำเสนอยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียน โดยนายโกวิท ผกามาศ อธิบดี สวธ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนอสาระความรู้ทางวัฒนธรรมในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม พร้อมเผยแพร่สาระงานวิจัยทางวัฒนธรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสวธ. เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีทั้งการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางวัฒนธรรมภายใต้ การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกยุคใหม่” โดยรศ.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา การเสวนา “งานวิจัยภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อการใช้ประโยชน์” 2 เรื่อง คือ “หนังใหญ่และการขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก” โดย ผศ.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และเรื่อง “การสืบทอดละครชาตรี ชุมชนนางเลิ้ง” โดย ผศ.สิทธิชัย สุขธรรมสถิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ จากนั้นเป็นการเสวนาพิเศษ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เตรียมขอขึ้นทะเบียนยูเนสโก ในปีพ.ศ. 2567” จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ “ชุดไทยพระราชนิยม” โดย ผศ.อนุชา ทีรคานนท์ จาก ม.ธรรมศาสตร์ เรื่อง “ประเพณีลอยกระทง” โดย รศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “มวยไทย” โดย ดร.ประไพร จันทะบัณฑิต จากมรภ.หมู่บ้านจอมบึง

จากนั้นช่วงบ่าย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานพิธียกย่องเชิดชูบุคคล องค์กร หน่วยงานผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พร้อมทั้งการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2565 จำนวน 14 รายการ คือ บ่อเกลือ, ตำนานนางผมหอม, ตำนานหลวงพ่อพระใส, แห่นกบุหรงซีงอ, ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ, นาเกลือ, น้ำผักสะทอน, ผ้าไหมหางกระรอกโคราช, ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์, ผ้าโฮลสุรินทร์, เมรุลอย, การเส็งกลองกิ่ง, การเล่นโหวด และเรือบก การมอบโล่รางวัล “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) และการมอบโล่รางวัลโครงการคัดเลือกโรงเรียนดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ระดับดีเด่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 11 โรงเรียน

นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาล และวธ. ให้ความสำคัญกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติและความภูมิใจของคนในท้องถิ่น และคนในชาติ ทำให้เกิดความรัก หวงแหน และเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมไทยที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทั้งก่อให้เกิดความรู้สึก ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ เพราะวัฒนธรรมนับเป็นฐานรากของชุมชน สังคม และประเทศ ที่แสดงถึงการดำเนินวิถีชีวิตของคนในสังคม ประเทศไทยมีเสน่ห์มรดกทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งจากวิถีชีวิต จึงทำให้คนไทยแตกต่างจากชาติอื่นในโลก เช่น การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น เรื่องของศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ความเป็นไทย อาหารไทย ดังนั้นเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และวิถีชีวิตของครอบครัว และชุมชน จะเติบโตอย่างแข็งแรงได้โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าทางสังคม ต่อยอดให้เกิดมูลค่า ทางเศรษฐกิจ ทำวัฒนธรรมไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ผลักดันให้เกิดค่านิยม ที่มีอิทธิพลกับความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศ และต่างประเทศ ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้วย

“รัฐบาลมองให้วธ.เป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชน ผลิตแบงค์ให้ประชาชน และในเร็วๆนี้วธ.จะได้รับมอบหมายงานใหญ่จากรัฐบาล เพราะถือเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้ประชาชนได้” นายเสริมศักดิ์ กล่าว