นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า นี่เป็นโอกาสในการต่อยอดนำมิติของการท่องเที่ยวผนวกกับมิติของความบันเทิง โดยชูจุดแข็ง จุดขายในพื้นที่ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวสายมูและสายศรัทธา สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตท้องถิ่น และความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน จึงถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าแก่ต้นทุนทางวัฒนธรรม ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างรายได้หมุนเวียนสู่ฐานรากอย่างทั่วถึงผ่านการท่องเที่ยวด้วย

แนวคิดศรัทธานำทาง เส้นทางนำเที่ยว ที่ว่าต่อยอดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อพญานาคในกลุ่มจังหวัดลุ่มแม่นํ้าโขง เช่น นครพนม มุกดาหาร สกลนคร หนองคาย บึงกาฬ และเชื่อมโยงถึงจังหวัดใกล้เคียงในภูมิภาค เช่น อุบลราชธานี อํานาจเจริญ หนองบัวลําภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ รวมทั้งสอดแทรกการเผยแพร่ประเพณีของแต่ละจังหวัด เช่น ประเพณีออกพรรษา ไหลเรือไฟ จ.นครพนม บั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย เป็นต้น

เริ่มต้นด้วยพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองก่อนเริ่ม “งานประเพณีออกพรรษา ไหลเรือไฟ” ในวันที่ 19 ตุลาคม 2566 จังหวัดนครพนม ณ ศาลหลักเมือง และลานพญาศรีสัตตนาคราช ต่อด้วย “งานประเพณีออกพรรษา บั้งไฟพญานาคโลก ปี 2566” ณ จังหวัดหนองคาย

ก่อนจะตามมาด้วยเส้นทางตามรอยพนมนาคา 3 จังหวัดเชื่อมโยง จากจังหวัดนครพนม ที่มี “พญาศรีสัตตนาคราช” ริมฝั่งแม่นํ้าโขง ที่สร้างด้วยทองเหลืองทั้งองค์ เป็นพญานาคองค์เดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร เพราะที่พระศอมีสร้อยสังวาลย์ที่นำเอาสัญลักษณ์เหนือซุ้มประตูองค์พระธาตุพนมมาสวมคล้องไว้ แสดงถึงองค์พญานาคที่มีความผูกพัน เชื่อมโยง พิทักษ์ ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมตามตำนานที่กล่าวขานสืบมานานชั่วอสงไขย ทุกปีจังหวัดนครพนมจะจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ในวันที่ 7 เดือน 7

แล้วออกไป “ถํ้านาคี” ที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ภูเขาหินทรายที่เกิดจากการกัดเซาะทางธรรมชาติเกิดเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ คล้ายพญานาค และมีหินเป็นริ้วที่เหมือนเกล็ดลำตัวพญานาค ในทางวิทยาศาสตร์เรียกลักษณะแบบนี้ว่า “ซันแคร็ก” (Sun Crack) ที่เกิดจากรอยแตกบริเวณผิวของหิน ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดหินเป็นริ้วคล้ายเกล็ดของพญานาค และยังเป็นเส้นทางตามรอยของเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูปที่เคยขึ้นมาเจริญภาวนาบนที่แห่งนี้

เชื่อมโยงต่อไปยังจังหวัดสกลนครกับ “พญาสุวรรณนาคราช” ตั้งอยู่บ่อนํ้าศักดิ์สิทธิ์วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ตามตำนานได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทของวัดพระธาตุเชิงชุมนี้มีพญาสุวรรณนาคราชเป็นผู้รักษารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าไว้ ซึ่งพญาสุวรรณนาคนี้ตามตำรากล่าวถึงว่ามีเกล็ดเป็นทองคำ นาคมี 5 เศียร จึงมีนามว่าสุวรรณานาค นั่นหมายความว่าผู้ประเสริฐ ผู้ที่จะประเสริฐได้นั้นก็คือผู้ที่ทำความดี

“พระพุทธมหาราชานาคาบริรักษ์” วัดถํ้าผาแด่น รูปปั้นพญานาคปรก 7 เศียร สูง 19 เมตร ยาว 139 เมตร มีลำตัวขดเป็นฐาน 3 รอบรองนั่งพระพุทธเจ้า ส่วนกลางถึงปลายเลื้อยไปตามซอกผา โดดเด่นด้วยสีเหลืองทองตัดกับต้นไม้เขียวขจี และมีลวดลายอ่อนช้อยราวกับมีชีวิต

“พญานาคเผือก” อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ ตรงข้ามกับบึงหนองหาร มีความสวยงามสีขาวตระการตา บ่งบอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ชาวเมืองสกลนครเชื่อว่า พญานาคช่วยปกป้องรักษาบ้านเมือง ช่วยคุ้มครองทะเลสาบหนองหาร บึงนํ้าขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 78,000 ไร่ ให้ประชาชนมีความสงบสุขร่มเย็น

ไปที่จังหวัดมุกดาหารกับพญานาค 3 พิภพ ได้แก่ “พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช” พญานาคดิน (ปฐพีพิภพ) ประติมากรรมพญานาคหินอ่อนสีขาวองค์ใหญ่ ริมแก่งกะเบา เป็นนามที่ตั้งโดย พระราชรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร หมายถึง อัญมณีที่มีสีขาวหมอก สอดคล้องกับชื่อจังหวัด โดยเป็นพญานาคประจำองค์พระศิวะเทพ หรือพระอิศวร มีพระเศียรตั้งแต่ 1, 3 , 5, 7, 9 เศียร แล้วแต่ปาง เป็นองค์พญานาคที่มีลักษณะน่าเกรงขาม แต่แฝงด้วยความเมตตา มีความสง่างาม ประดับด้วยเกล็ดหินอ่อนสีขาวนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาสักการะขอพรและลอดท้องเพื่อความเป็นสิริมงคล กับคติความเชื่อ “อุดมสมบูรณ์ มั่นคง มั่งคั่ง รํ่ารวย” และไหว้พญานาคดินแล้วต้องกินหมูหันแก่งกะเบา ทุกอย่างจะหมู ๆ สำเร็จง่ายดาย

“พญาอนันตนาคราช” พญานาคนํ้า (บาดาลพิภพ) พญานาคองค์ใหญ่ที่พันรอบเสาต้นใหญ่หันหน้าไปทางแม่นํ้าโขงตั้งอยู่ติดกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เชื่อกันว่าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งนี้คือปากถํ้าสู่เมืองบาดาล และตามตำนานพญานาคอนันตนาคราชถือเป็นราชาแห่งพญานาคทั้งปวงและเป็นเจ้าแห่งท้องสมุทร ทางจังหวัดจึงได้จัดสร้างรูปปั้นพญานาคอนันตนาคราชแห่งนี้ขึ้น โดยมีลักษณะเป็นองค์พญานาคเลื้อยพันรอบเสาสีทองที่มีความสูงเหนือสะพานมิตรภาพ ช่วงลำตัวองค์พญานาคมีเกล็ดสีดำตัดกับแผงสีทอง หันพระเศียรไปทางแม่นํ้าโขง กับคติความเชื่อ “ร่มเย็น ร่มรื่น ราบรื่น” และไหว้พญานาคนํ้า แล้วต้องกินปลาแม่นํ้าโขง ทุกอย่างจะพลิ้ว ราบรื่น

“พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” พญานาคฟ้า (สวรรค์พิภพ) ประติมากรรมพญานาคขนาดใหญ่สร้างอยู่บนเขาภูมโนรมย์ ของวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ สะท้อนความเชื่อความศรัทธาเรื่องพญานาคผู้มีอิทธิฤทธิ์และอำนวยโชคลาภของคนในลุ่มแม่นํ้าโขง ผู้ที่มากราบไหว้พญานาคสามารถตั้งจิตอธิษฐาน แล้วเดินลอดท้องพญานาคทั้ง 7 ช่องที่มีความเชื่ออันเป็นมงคลต่าง ๆ และยังสามารถนำผ้าแดงที่เขียนชื่อตัวเองไปผูกไว้ที่ต้นไม้รอบ ๆ พญานาค เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง กับคติความเชื่อ “เจริญรุ่งเรือง เติบโต เลื่อนตำแหน่ง” และไหว้พญานาคฟ้า แล้วต้องกินเนื้อโคขุนหนองสูงทุกอย่างจะสง่างาม รุ่งเรือง

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางตามรอยพญานาคอื่น ๆ ทั้งที่ “พุทธยานอุทยานวังนํ้าเขียว” อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา ดินแดนแห่งความเชื่อ ความศรัทธา ที่ชาวบ้านต่างขนานนามว่า คำชะโนดวังนํ้าเขียว ที่มีพญาอนันตนาคราชองค์ใหญ่สีรุ้ง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางวัด ดูสวยงามน่าเกรงขาม และมีองค์ปู่อนันตนาคราช องค์ปู่ศรีสุทโธ แม่ย่าศรีปทุมมา ที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพร

“วัดป่าภูปัง” อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี มีพญานาคเรืองแสง และพระประธานปางมหาจักรพรรดิทรงเครื่องที่สวยที่สุดใน จ.อุบลราชธานี เป็นแหล่งธุดงคสถานของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ถิ่นตำนานเมืองนาคราช ดินแดนชาวบังบดที่เล่าขานกันในตำนานพญานาค 3 องค์ ของวัดแห่งนี้

“ถํ้าพญานาคราช” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น หินงอกหินย้อยลักษณะเป็นริ้วคล้ายม่านประดับด้วยเกล็ดประกายแวววาวของหินแร่ ตัวถํ้ามีความคดเคี้ยวคล้ายตัวพญานาคยาวประมาณ 1 กิโลเมตร “วัดดอยเทพสมบูรณ์” อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู มีพระพุทธชยันตีหนองบัวลำภู และบันไดพญานาคสีทองอร่ามที่ทอดขาวทางขึ้น จากถนนไปจนถึงองค์พระพุทธรูป

“วัดมงคลรัตน์” อ.เมือง จ.สุรินทร์ พระธาตุเจดีย์ศรีมงคลรัตน์และตามรอยนาคาพญานาคราช “อารยธรรมโบราณ ปราสาทเมืองตํ่า” อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ มีประติมากรรมพญานาค เศียรแบบมนเกลี้ยงไม่มีรัศมี รายล้อมอยู่รอบสระนํ้าทั้งสี่มุมของปราสาทชั้นใน และ “เส้นทางสายมูนคราธานี” อุดรธานี หนองคาย บึงกาพ มูกลางคืนก็ปังมูกลางวันก็เฮง และ “วัดภูตะเภาทอง” อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ที่มีองค์พญานาคราชสีทองนาม มุจลินท์ ที่ได้สร้างขึ้นตามนิมิตของอดีตเจ้าอาวาส.

อธิชา ชื่นใจ