ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของทีมชาติไทยต่อจอร์เจีย ด้วยสกอร์ 8 ต่อ 0 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมหลายอย่าง ไม่พร้อมแบบตั้งใจให้ไม่พร้อม ทีมไทยจึงไปบุกยุโรปแบบสภาพพิการ และนัดแรกผลก็ออกมาอย่างที่เห็น โดน จอร์เจีย ต้อนยับเยิน เป็นความพ่ายแพ้ห่างชั้น ที่เราแทบจะไม่ได้อะไรเลย

‘ช้างศึก’ ได้อะไรบ้าง จากเกมที่สู้ไม่ได้เลย!

อย่างไรก็ตาม การแพ้แบบหมดรูปครั้งนี้ จะเป็นการแพ้ ที่ต้องจารึกเป็นสถิติประวัติศาสตร์หรือไม่นั้น วันนี้ ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพาทุกคนมาย้อนประวัติศาสตร์ ผลการแข่งขันทีมชาติไทยกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ถึงเวลาหรือยัง ที่ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องหันมาพัฒนาแก้ปัญหาต้นตอความถดถอยของวงการฟุตบอลไทยอย่างจริงจัง เพื่อความฝันที่จะพา ทีมช้างศึก ฝ่าฟันเส้นทางฝันสู้ฟุตบอลโลกให้ได้สักครั้งหนึ่ง

ในปี 2499 พล.ต.เผชิญ นิมิบุตร ซึ่งเป็นนายกสมาคมฯ ได้คัดผู้เล่นจากหลายสโมสรเพื่อจัดตั้งทีมที่จะลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 1956 ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นครั้งแรกของทีมชาติไทยที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิก โดยทีมไทยซึ่งมี บุญชู สมุทรโคจร เป็นผู้ฝึกสอนคนแรก จับฉลากพบกับทีมสหราชอาณาจักร ในวันที่ 26 พฤศจิกายน โดยทีมไทยแพ้ไป 0–9 นับเป็นความพ่ายแพ้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และตกรอบทันที โดยหนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน ได้พาดหัวข่าวหน้ากีฬาว่า “ทีมชาติอังกฤษเฆี่ยนทีมชาติไทย 9–0” ซึ่งภายหลังจบการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงมีรับสั่งถึงสมาคมฟุตบอลฯ ให้ส่ง พล.ต.ดร.สำเริง ไชยยงค์ หนึ่งในนักฟุตบอลชุดโอลิมปิกไปศึกษาพื้นฐานการเล่นฟุตบอลจากประเทศเยอรมนี เพื่อให้กลับมาสอนการเล่นฟุตบอลให้แก่ทีมไทย

หลังจากนั้น ในปี 2508 ทีมชาติไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองแรกในกีฬาแหลมทอง ปัจจุบันคือกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 3 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้สำเร็จ กระทั่งจนถึงปัจจุบันทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์ซีเกมส์ได้รวม 16 สมัย ถือเป็นสถิติสูงสุด (รวมทั้งทำสถิติคว้าแชมป์ติดต่อกัน 8 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2536–2550)

ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย