นี่คือหนึ่งในสิ่งที่จะได้พบเห็นในช่วงประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงของชาวเหนือ และเมื่อโคมแบบที่ว่าถูกนำมาแขวนรวมกันเป็นจำนวนนับร้อยนับพัน รอบ ๆ บริเวณ “วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร” จ.ลำพูน จนถูกเรียกว่าเป็น “เทศกาลโคมแสนดวง” ทั้งยังเป็นหนึ่งใน “Unseen New Chapters : ปักหมุดมุมใหม่ เปิดไทยมุมต่าง” ตระการตาแห่งสีสันมหัศจรรย์ทะเลโคม

เทศกาลโคมแสนดวง เป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็ง ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน จนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การถวายโคมเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัยนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงความศรัทธาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำพูนรวมไปถึงผู้ที่เกิดปีระกา และประชาชนทั่วไป เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีล้านนา รวมถึงการถวายโคมเพื่อเคารพสักการะพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย

เมื่อถึงงานเทศกาลยี่เป็ง ชาวล้านนาจะนิยมประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามด้วยการจุดผางประทีปหรือประดับโคมไฟให้สว่างสดใสตลอดช่วงเทศกาล ชาวล้านนาเชื่อว่าการทำโคม เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่ประทับบนสรวงสวรรค์และแสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข

เทศบาลเมืองลำพูน จึงร่วมกับชุมชนได้ทำการเตรียมโคมหลากสีสัน จำนวนกว่า 150,000 โคม ไว้รองรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และบูชาโคม พร้อมทั้งเขียนชื่อและข้อความอธิษฐานขอพรลงบนโคม แล้วแขวนตามจุดสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นพุทธบูชา ให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง รวมถึงเป็นการสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อของชาวล้านนา และหนึ่งในชุมชนที่มีการทำโคมกันอย่างแพร่หลายก็คือ “ชุมชนจามเทวี”

ประภาศรี วนิชกุล ประธานชุมชนจามเทวี กล่าวถึงเทศกาลโคมว่า โคมเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและความศรัทธาของคนลำพูน นอกจากประโยชน์ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้ให้กับชุมชน จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามให้ข้อมูลและวางทิศทางเพื่อการพัฒนาอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประดิษฐ์โคมและต่อยอดในการฝึกทักษะการทำโคมให้กับชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย รวมถึงเด็กและเยาวชน ให้สามารถประดิษฐ์โคมเพื่อนำมาจำหน่ายในช่วงเทศกาล รวมถึงเป็นการสืบสานภูมิปัญญาในการประดิษฐ์โคมล้านนาที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น โคมธรรมจักร โคมดาว โคมไห โคมเพชร ฯลฯ

ปัจจุบันโคมถูกนำไปใช้อย่างหลากหลายเช่น ประดับตกแต่งโรงแรม รีสอร์ท วัด หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม เทศกาลโคม จึงไม่ได้แฝงแค่ความสวยงามของการท่องเที่ยว แต่ยังแฝงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นทั้งเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาและขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ดีงาม

เพื่อให้นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนได้บูชาโคมด้วยการเขียนชื่อและข้อความขอพรลงบนโคม และนำโคมไปแขวนด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม-27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 07.30-21.00 น. โดยโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน มี 2 จุด ประกอบด้วย จุดแรก ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมืองลำพูน บูชาโคมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระธาตุหริภุญชัย ราคาโคมละ 99 บาท โคมทุกดวงที่มีสัญลักษณ์รูปพระธาตุหริภุญชัย จะได้แขวนคู่ดวงไฟที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ โคมที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้บูชา ขนาดเหมาะสมกับการแขวนคู่ดวงไฟ ทนแดด ทนฝน ตลอดระยะเวลาของเทศกาลร่วม 2 เดือน และที่สำคัญรายได้จากการบูชาโคม จะส่งมอบไปถึงประชาชนที่รับทำโคมโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางแต่อย่างใด

จุดที่สอง ณ ลานอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี อ.เมืองลำพูน บูชาโคมเพื่อถวายสักการะพระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์แห่งเมืองหริภุญชัย โคมที่ถวายแล้วจะถูกนำไปประดับตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญโดยรอบเมืองลำพูนต่อไป

นางสาวยุรีพรรณ แสนใจยา ผอ.ททท.สำนักงานลำปาง กล่าวว่า นอกจากจะนำเสนอวิถีชุมชนคนทำโคมแล้วยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่น ๆ อาทิ กู่ช้างกู่ม้า วัดจามเทวี วัดพระยืน ร่วมกิจกรรมแลกของที่ระลึก Eco-print-นั่งรถรางชมเมือง หรือจะแวะไปแอ่วสะพานขาวทาชมภู-ทำผ้า Eco print-ชมผ้าไหมยกดอก-จุดชมวิวผาด่าน-ทานเที่ยงอาหารถิ่นริมทุ่งนา-ชมผลงานผ้าที่ทำ จบทริปด้วยบ้านพ่อเลี้ยงหมื่น อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความสนใจ เป็นแหล่งผลิตงานศิลปะดินเผาชั้นเลิศ โดยการนำงานปั้นมาจัดแสดงโชว์ ในสวนกลางแจ้งบนเนื้อที่ 150 ไร่ เปรียบเสมือนลานโชว์รูมขนาดใหญ่ในสวนกลางแจ้งรวมไปถึงพันธุ์ไม้หายากของจังหวัดลำพูนและดอกไม้ไทยในวรรณคดีเอามาไว้ ณ ที่แห่งนี้ ให้เราได้ศึกษาและเยี่ยมชมกัน ยามเย็นแวะชิม เจ๊กอยนํ้าเต้าหู้ ร้านนํ้าเต้าหู้ในตำนานหลากหลายเมนู หรือจะแวะเข้าแถวชิมหมูทอดจ่าเหลาณ ตลาดโต้รุ่ง ก่อนจะไปแขวนโคม

ออกจากวัดพระธาตุหริภุญชัย เดินมุ่งหน้าไปทางสะพานขัวมุง จากจุดนี้ถูกกำหนดให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมของลำพูนที่มาพร้อมกับโครงการ “Lamphun Street Arts : การพัฒนาศิลปะเชิงสร้างสรรค์บนถนนวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดลำพูน” โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่ศิลปะเชิงสร้างสรรค์บนถนนวัฒนธรรมในชุมชน สตรีตอาร์ตที่ว่าจะเริ่มตั้งแต่สะพานขัวมุงเรื่อยไปจนถึงวัดต้นแก้ว ตำบลเวียงยอง ข้ามสะพานเดินถ่ายรูปย่านนี้แล้วอย่าลืมแวะชิมก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไยหนึ่งเมนูเด็ดเมืองลำพูนด้วย

มีเวลาเหลือช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ แนะนำให้ออกไปชมนาขั้นบันไดที่ “บ้านผาด่าน” อ.แม่ทา ชุมชนปกาเกอะญอที่ยังคงวิถีชิวิตที่เรียบง่าย โดยมีจุดชมวิวที่พร้อมให้เช็กอินอยู่ที่ร้านขายของชำ “อภิเดช” ร้านเล็ก ๆ ในชุมชนที่พร้อมบริการกาแฟสดจากไร่บนดอยบ้านแม่สะแงะ พร้อมกับการดื่มดํ่าบรรยากาศในฤดูหนาวท่ามกลางทุ่งนาข้าวไร่ที่กำลังเหลืองอร่ามช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม โดยจุดนี้จะมองเห็นวิวดอยข้าวผืนใหญ่ท่ามกลางโอบล้อมของขุนเขา

และหากประทับใจกับความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่โอบล้อม “ปงผาง escape” โครงการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลทากาศเหนือ อ.แม่ทา ชวนหนีเมืองใหญ่แห่งความวุ่นวาย ไปชมป่าไม้ ลำธาร หมู่บ้านกลางหุบเขา วิถีชีวิตของชุมชนปกาเกอะญอ ชิมอาหารพื้นถิ่นรสชาติดีเลิศณ พื้นที่ที่แทบจะเรียกได้ว่า unseen เพราะเปิดรับนักท่องเที่ยวไม่เกิน 3 เดือนในหนึ่งปี โดยรับเดือนละ 4-5 ทริปในฤดูหนาวเท่านั้น เพื่อให้กระทบวิถีชุมชนและธรรมชาติน้อยที่สุด

ครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวปกาเกอะญอบนเทือกเขา 3 แห่ง คือ ผาด่าน แม่สะแงะ ปงผาง เป็นชุมชนในเขตพื้นที่ป่าสงวนบนเขา รายล้อมด้วยธรรมชาติของป่าและธารนํ้า ผู้คนที่เป็นมิตร ห่างไกลความวุ่นวาย ไร้สัญญาณติดต่อโลกภายนอกไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต เหมาะเจาะลงตัวกับการพักชาร์จพลัง

และรายได้ที่เกิดขึ้นยังส่งตรงถึงชุมชนทั้งสามแห่งผู้เป็นเจ้าบ้านอีกด้วย การจะขึ้นไปจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อขับขึ้นไปตามเส้นทางโดยผู้ชำนาญเส้นทาง เนื่องจากตลอดเส้นทางเป็นถนนลูกรัง และพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง จึงไม่แนะนำให้นักท่องเที่ยวนำรถส่วนตัวขึ้นไปด้วยตนเอง.

อธิชา ชื่นใจ