เพราะเขาคือผู้กำกับ เขียนบท ทำซาวด์ หนังสัปเหร่อที่เปิดฉายเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ทำรายได้หลักร้อยล้านเพียงแค่ 5 วัน ในช่วงคิวแน่นที่ต้องออกรายการและเดินสายขอบคุณแฟนหนังในโรง“ผู้กำกับสัปเหร่อ” สละเวลาประมาณหนึ่งมาพูดคุยกับเราผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงเบื้องหลังกว่าจะเป็นหนังและชีวิตของตัวเองแบบพอสังเขป

เป็นทุกอย่างในคนทำหนังอายุน้อยทำงานหนัก

วันนี้ในวัย 27 ปี “ต้องเต” ได้รับนามสกุลใหม่ว่า “ผู้กำกับ 300 ล้าน” ตัดภาพกับคำถามเข้ามาสู่ไทบ้านเดอะซีรีส์ ต้องเตเล่าว่า ช่วงเรียนปี 1 ม.สารคาม ไทบ้านเดอะซีรีส์ ประกาศหานักแสดงพอดี จึงลองไปดู แต่ไม่ได้รับคัดเลือก แต่ขอเขาขอเป็นแค่ตัวประกอบ เพราะอยากเรียนรู้เรื่องราวในกองถ่ายมีความฝันว่าอยากทำหนังจากทำเอ็มวี ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน อยากหยิบเรื่องราวของสัปเหร่อมาเขียนเป็นบทหนัง

เราเคยได้ยินว่าเวลาจะเขียนบทอะไรสักอย่าง ถ้าเราเขียนเรื่องใกล้ตัวเราจะเขียนได้ดี เพราะเราเข้าใจมันดีอยู่แล้ว ผมก็เลยเขียนเรื่องไหนที่มันใกล้ตัวผมใส่ลงไป ผมจะชอบเล่าเรื่องชีวิต เพราะชีวิตมันมีการสูญเสีย มันมีเรื่องความตายเพราะมันใกล้ตัวเรามาก ๆ เลยหยิบเรื่องแบบนี้มาเสนอ แต่พอมาทำจริง ๆ มันยาก ถึงมันจะใกล้ตัวเราก็จริงแต่เรายังไม่เข้าใจดี เพราะว่าเราไม่เคยตาย เราไม่เคยใกล้ตาย ไม่รู้ว่าจะตายตอนไหน ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับความตาย เอ้ย! มันก็ท้าทายดีนะ ถ้าเราเล่าสิ่งที่ใกล้ตัวแล้วคนทั่วไปยังไม่เข้าใจ มันยากมาก แล้วเราจะทำยังไง ก็เลยเล่าในแบบพาร์ตที่ใจเรียบ ๆ ซื่อ ๆ เราอยากเล่าความตายแบบไหนก็ให้เขาเห็นศพ ให้เห็นคนตาย แล้วคนดูก็จะตีความหมายในมิติของเขาเองในต่างรูปแบบกันไป ซึ่งเราจะไม่ใส่ความเข้าใจของเราไป เราก็ไปเจาะข้อมูลว่าคนนี้เขาเป็นสัปเหร่อแบบไหน เราก็จะนำมาเล่าความเป็นสัปเหร่อในสภาวะปัจจุบันให้เข้าใจกันนะครับ โดยผ่านการตั้งคำถาม ในแบบที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาทำ เราเอามาเล่าเพื่อให้คนได้เข้าใจตรงกันเลย” ต้องเตเล่าวิธีทำหนังในแบบฉบับของตัวเอง

ในฐานะคนเขียนบทข้อมูลที่จะมาถ่ายทอดออกมาเป็นหนังเพื่อให้อะไรกับคนดูทั้งเสียงหัวเราะ นํ้าตา แง่คิด ข้อเท็จจริง ต้องเตบอกว่าก่อนทำหนังเรื่องนี้เขาสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเยอะมากทั้งสัปเหร่อในจังหวัดที่คิดว่าจะมีข้อมูลที่ตรงกับเราที่จะเล่าในหนังเรื่องนี้ อย่าง “อาจารย์แจ๊ก 1000 ศพ” จ.บุรีรัมย์ หรือ  สัปเหร่อที่จบดอกเตอร์โดยตรงจากจ.อำนาจเจริญ ไปเจาะข้อมูลว่าคนนี้เขาเป็นสัปเหร่อแบบไหน เราก็จะนำมาเล่าความเป็นสัปเหร่อในสภาวะปัจจุบันให้เข้าใจกันนะครับ โดยผ่านการตั้งคำถาม ในแบบที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาทำ เราเอามาเล่าเพื่อให้คนได้เข้าใจตรงกัน

“มันเป็นคำถามของคนรุ่นใหม่นะครับ ที่เขาสงสัยในพิธีกรรมที่เกิดขึ้น ที่เมื่อก่อนเขาทำกันพอสมัยนี้ไม่มีแล้ว เราก็พยายามหยิบมาเพื่อทำความเข้าใจ และตั้งคำถามว่าสมัยนี้เขาเข้าใจแบบไหนและเมื่อก่อนเขาเข้าใจกันอย่างไร”

ถามว่ากลัวความตายไหม ต้องเตบอกว่า ก่อนทำหนังเราก็กลัวความตาย เพราะเรายังไม่ได้ทำอะไรอีกเยอะเลย เรายังมีคนให้ต้องคิดถึง เรายังมีคนที่เราต้องทำอันนั้นให้เขารู้สึกดี ยังต้องทำและยังต้องคิดถึงคนนั้นคนนี้ แต่พอทำหนังมันได้เรียนรู้ ว่าวันนี้ถ้าเราตายเราก็โอเคนะ เราได้ทำสิ่งที่เราได้ทำแล้ว ผมได้ทำหนังอีสานที่ผมอยากจะทำ ผมได้ใส่ตัวตนของผมในหนังเรื่องนี้แล้ว

“ตอนเขียนบทเราก็คิดว่าจะเขียนให้คนชอบ พยายามมองมุมเขามากไปจนลืมมุมที่เราชอบ สุดท้าย มาได้ดราฟต์ที่ว่า ไม่ชอบไม่เป็นไร เราไม่คาดเดา แต่ถ้าเราชอบเราก็ได้รู้ว่า อย่างน้อยเรานี้แหละหนึ่งคนที่ชอบ เราก็พอใจกับมันแล้ว ก็รู้สึกว่าตายไปมันก็คือความจริงแล้ว ก็เฉย ๆ กับสิ่งเหล่านี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้บอกว่ากลัวหรือไม่กลัวนะ จริง ๆ ทุกคนก็ต้องกลัวแหละ เรายังไม่ตัดได้ขนาดนั้น”

ความตายคือความจริง และในโลกแห่งความจริงมีความทุกข์สุขอยู่ในนั้น ดังนั้นในฉากงานศพของหนังจึงมีมุกตลกเล็ก ๆ แกล้มอยู่ในนั้น

“อย่างฉาก เด็กแว้นขับรถรอบงาน หรืองานศพ LGBT เราพยายามถ่ายทอดความหลากหลายความเป็นมนุษย์นะครับ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต จะสังเกตว่าจะมีหมาในฉาก มีต่างชาติ มีแต่ละศาสนา เราพยายามเล่าความหลากหลายแต่สุดท้ายแล้วความจริงมันก็คือความตาย เราจะเล่าในแบบสาระมันไม่ได้เลยต้องใส่ความเป็นคอมเมดี้ครอบอยู่”

 สัปเหร่อเป็นหนังผีที่คนเข้าไปดูแล้วไม่ได้รู้สึกกลัวผี แต่หนังก็กระตุกความสยองได้เล็ก ๆ เบื้องหลังการถ่ายทำได้เจอผีไหม

 “ทุกคนในกองจะให้เรียกสิ่งเหล่านี้ ว่า มายเฟรนด์ นะครับ ที่ใช้คำนี้เพราะว่าเจอบ่อยมาก เช่น มานั่งข้างตอนกำกับ มาโผล่ในจอเราต้องสั่งคัตเพราะว่าเราเห็นมีใครมาโผล่ พอมาเช็กก็ไม่มี แล้วทำไมสั่งคัต ผมก็บอกว่าผมเจออยู่ เจอบ่อยจนเรียก “มายเฟรนด์” ได้เลยครับ

“ต้องเต” “ไทบ้าน” ทำลายขนบคนทำหนัง

เรื่องราวที่ถูกพูดถึงและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของหนัง คือสัปเหร่อไม่มีดาราที่มีชื่อเสียง แต่ตัวแสดงเล่นได้อย่างกลมกล่อมสร้างเสียงหัวเราะ ทัชใจคนดู โปรโมตน้อย และไม่ได้ฉายในโรงเมืองกรุงก่อนแต่ฉายในโรงหนังจังหวัดภาคอีสานที่เรียกว่ายอดคนดูทำโรงแตก ถึงขั้นต้องเพิ่มรอบฉายหนังตีสองตีสาม ตลอดจนฉากต่าง ๆ คือภาพจริง ภาพที่เห็นทั่วไปในพื้นที่ของจังหวัดภาคอีสาน ฉีกกฎของการทำหนัง ต้องเตบอกว่า ตัวเองเป็นคนอีสาน เป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปภาคอื่น ๆ มากนักและคิดว่ามีเสน่ห์เหมือนกัน รู้สึกว่าความอีสานมันมีเสน่ห์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทุกอย่างเราเห็นหมด มันเลยเป็นเสน่ห์ที่เราเห็นบ่อย ถ้าหยิบตรงนี้มาเล่า พิธีกรรมแบบนี้มันเริ่มจะหายแล้วนะ ลองเอามาให้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามไหม

ส่วนใหญ่นักแสดงจะเป็นทีมไทบ้านอยู่แล้ว แต่สำหรับนักแสดงใหม่เราก็จะสอนว่าไทบ้านจะเล่นสไตล์นี้นะเราไม่มีบทแต่เน้นเข้าใจ อยากพูดแบบไหน อยากเล่นแบบไหน เข้าใจแล้วก็ทำเลย ไม่ว่าเดินไปจุดไหนไม่ต้องสนใจบล็อกกิ้ง เดี๋ยวกล้องจะตามไปเอง คุณเล่นไปเลย คุณเป็นอิสระของคุณให้มากที่สุด ที่เหลือเป็นหน้าที่ตัดต่อเอง ส่วนบทจะเป็นคำหรือประโยคที่เราต้องการหลัก ๆ ก่อน แล้วที่เหลือนักแสดงก็ใส่เอาครับ

ต้องเต อธิบายความเป็นไทบ้านก็จะเล่าในความเรียล ๆ ธรรมชาติ ๆ ของชีวิตอะไรแบบนี้ แต่พอเราทำเราได้รับอิทธิพลในสิ่งที่เราเรียนมา อย่างละครเวที เราพยายามจะใส่สัญญะ ใส่อะไรที่มันเรียบ ๆ แต่ให้รู้ว่าเราคิดไว้แล้ว ความหมายแฝง symbolic หรือพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นงานถนัดเรา เราก็พยายามใส่ความเป็นตัวเองลงไป จนคนถามว่าเรื่องนี้มันจะโอเคไหม เราก็ตอบว่า มันน่าจะเจ๊งนะ เพราะว่ามันมีตัวผมเยอะไปนะ คิดว่ามันเจ๊งขนาดที่ผมคิดว่าลิสต์สิ่งที่ผมต้องเอามาใช้หนี้กับสิ่งที่ผมทำผิดพลาด ทำหนังเจ๊งในครั้งนี้ ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ ผมดื้อที่จะเป็นตัวผม เดี๋ยวผมค่อยไปยืมตังค์คนอื่นมาใช้หนี้ ก็แล้วกัน

 มิวสิกวิดีโอเพลง “ขวัญเอยขวัญมา” ของปาล์มมี่ เป็นอีกผลงานการกำกับของ “ต้องเต” เล่าเรื่องความรักความผูกพันของคนอีสานได้อย่างละเมียดละไม ต้องเตเอ่ยถึงผลงานนี้ว่า อยากตีความคำว่า “ขวัญ” จึงเอามุมที่เขาไม่ได้หยิบมาเล่า แล้วอยากเล่า เราก็คิดถึงการช้อนขวัญขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพราะว่าเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ความยากอยู่ที่เขาไม่เข้าใจ เพราะว่าทีมงานไม่มีคนอีสานเลย เราต้องอธิบายว่ามันคืออะไร อย่างไร กว่าจะทำได้ก็ยากเหมือนกันครับ เรายังใหม่ด้วย แต่เราก็บอกว่าให้ทีมงานเชื่อมั่นในตัวผม เพราะผมเชื่อมั่นในงานของผมอยู่แล้วว่าต้องออกมาโอเค

ความรักความหวังดีไม่มีการแบ่งภาคแต่เป็นเรื่องราวของสากล ฉากในหนังสัปเหร่อ มีการป้อนข้าวจี่ไหม้จากยายให้กับ “เซียง” ที่ชีวิตเจอความผิดหวังเสียใจ แต่เมื่อกลับมาบ้าน ความรักที่สื่อสารด้วยการกินข้าวจี่ที่ไหม้เกรียม จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่สายตาเลือนรางการทำอาหารจึงบกพร่อง แต่ในก้อนข้าวจี่เจือด้วยความรักความห่วงใย ต้องเต เล่าว่า นี่คือฉากชีวิตของตัวเองที่หลายครั้งชีวิตที่ผ่านมาเคยผิดพลาด ผิดหวัง แต่ทุกครั้งเมื่อกลับถึงบ้านพ่อแม่ก็ปลอบประโลมด้วยความรักและใส่ใจในทุกครั้ง

“ที่เราทำผิดอะไรเขาก็จะไม่ถาม เขาถามว่ากินข้าวหรือยัง เขาจะไม่ถามเลยว่าเราจะเป็นคนดีหรือไม่ดี จะไปทำร้ายใคร เขาก็ยังดูแลเราซัพพอร์ตเรา ให้กำลังใจเรา แล้วหาข้าวให้เรากิน ไม่รู้ว่าที่อื่นจะเป็นไหม เราก็เลยอยากเล่า

มุมมองความรัก “ยินดีและยินดี” ทั้งคนที่เข้ามารักและเข้ามาเท

หนังผีกระแทกใจทำเงินในบ้านเรามีเรื่องราวของความรักผูกร้อยอยู่ในนั้น “สัปเหร่อ” ก็เช่นกัน สำหรับคนที่ไปดูมาแล้วหนังได้ฝากคำคมไว้ว่า “ความตาย มันฆ่าเราได้ครั้งเดียว แต่ความรัก มันฆ่าเราไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะตาย”… สะกิดเรื่องราวความรักกับ “ต้องเต” เขาบอกว่าความรักของตัวเองผิดหวังมาก็หลายครั้ง แต่ปัจจุบันก็มีความรักดี ๆ อยู่ในชีวิต

“ปัจจุบันก็มีแฟนที่ช่วยกัน ผมจะเป็นคนที่คนจะเข้าใจผมยาก เพราะว่าความเป็นตัวเองสูง บางคนก็จะไม่เข้าใจเรา

ส่วนมุมมองความรักของผู้กำกับยิ้มง่ายคนนี้ บอกว่า กลับมาที่คำเดิม คือคำว่า “ยินดี” เรายินดีกับความรัก เรายินดีกับการที่ทิ้งเราไป ยินดีที่เขาทำร้ายเราอะไรแบบนี้ มันก็เป็นประสบการณ์หรือเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้เป็นอย่างดีนะครับ เราแค่เต็มที่กับมันในช่วงเวลานั้นแค่ไหนก็เท่านั้นครับ ถ้าเราไม่เต็มที่หรือทำอะไรผิดไปเราก็โหยหามัน มันก็เป็นการเรียนรู้ ว่าแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ผิดพลาดแค่นี้ไม่เป็นไร เรียนรู้มัน

ก่อนที่จะหมดเวลาพูดคุย ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีฝันที่อยากทำอะไรให้สำเร็จเขาแชร์วิธีคิดของเขาไว้ว่า

 “ผมไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้มันทำให้พวกผมประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือมันเป็นแค่เริ่มต้น อยากฝากว่า ผมเป็นคนไม่เก่ง ไม่เก่งในเรื่องกำกับ ไม่เก่งอะไรเลย เราเรียนมาไม่ตรงสายด้วย แต่แค่เรามีสิ่งที่เราอยากทำ อยากเล่า อยากสื่อ ผ่านการบอกเล่าในแบบจริงใจ มีความจริงอยู่ในนั้น มีศิลปะที่อยากจะเล่าในสิ่ง ๆ นี้มาให้คนได้เห็นได้ดู ถ้าคนรุ่นใหม่ที่เทคโนโลยีเข้าถึงมาก ๆ อยากเรียนอะไรก็ได้เรียน คุณต้องลองทำดู เพราะว่าผมก็ผ่านอะไรมามากกว่าจะได้รับโอกาส ถ้าน้องตั้งใจก็ลองทำ ลองหาโอกาสที่จะทำให้เต็มที่

…ขออภัยในเรื่องราวที่นำเสนอสำหรับหลายคนที่ยังไม่ได้ดูหนังสัปเหร่อ อาจจะยากแก่การเข้าใจ …

‘สส.โต้ง’ พ่อของกลุ่มไทบ้าน

ก่อนที่หนัง “สัปเหร่อ” จะประสบความสำเร็จในวันนี้ลมใต้ปีกสำคัญของกลุ่มเด็กหนุ่มไทบ้านที่ต้องเอ่ยถึง “สส.โต้งสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต สส.พรรคภูมิใจไทย จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ทุนทำหนังกับกลุ่มไทบ้านเดอะซีรีส์ตั้งแต่ต้น เล่าว่า เริ่มต้นรู้จักกับ “ศักดิ์” “กัส” “โอม” “จ๊อบ” เป็นเด็กที่มาเข้าค่ายดูดาวด้วยกัน คือผมจัดค่ายแล้วเขามา แล้วเขาชอบกล้องตั้งแต่ตอนโน้นเขาไปถ่ายแล้วได้รับรางวัล เขาไปเรียนหนังสือแล้วจบกลับมาเล่าให้ฟัง “โอม” จะทำหนังทำโปรเจกต์จบมาขอเงินช่วย โดยขอเขาว่าให้มาทำหนังให้จังหวัดได้ไหมแทนที่จะทำหนังอินดี้อย่างเดียว เมื่อจะทำหนังแล้วให้โปรโมตจังหวัดเราด้วย พอเห็นผลงานเราชอบ ชอบเพราะเขาถ่ายดี มีความคิดดี ทีนี้เด็กแต่ละคนก็ไปเติบโตตามทิศทางของแต่ละคน แล้วเอาโปรเจกต์หนังมานำเสนอลองดูให้ทุนเขา เงื่อนไขถ่ายในศรีสะเกษ ถ้าหนังขาดทุนไม่เป็นไร แถมมีขู่เล็ก ๆ ถ้าไม่ตั้งใจทำว่าจะอาเงินคืนนะ ถ้ากำไรเอาเงินมาคืน แล้วเงินส่วนกำไรให้เขาไปสร้างเนื้อสร้างตัว ทีนี้ผมก็ได้รู้จักนักแสดงแต่ละคน เพราะเราอยู่กันแบบพี่น้อง

ก่อนที่จะเดินทางมาถึงสัปเหร่อ เราผ่านเรื่องราวกันมาเยอะทั้งมีปากเสียง ทั้งทะเลาะประสบความสำเร็จ และรู้จักกับ “ต้องเต” ตอนที่ทำไทบ้าน 2.1 กับ 2.2 ที่ตอนนั้น “ต้องเต” มีบทบาทในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ แล้วเขาก็มีส่วนไปรับบรีฟงาน และเรารู้สึกว่า “ต้องเต” เป็นคนที่คุยรู้เรื่อง อาจจะเป็นเพราะคนอื่นมีความเป็นศิลปินสูง คือ “ต้องเต” มีเหตุมีผลในการคุยกันดี และเห็นผลงานการกำกับที่
ไม่ใช่ศักดิ์ เรื่อง “รักหนูมั๊ย” แต่ “เซียนหรั่ง” เป็นคนกำกับ เห็นว่าหนังฟีลกู๊ดมาก แล้วถ่ายทำดีมาก แต่เนื่องจากโควิดหนังไม่ทำเงิน แต่เราได้เห็นว่าน้องทำหนังได้ แล้วเขามาดังมากในภาคอีสานตอนเป็นหนังเรื่อง “เซียนหรั่ง” เพราะตอนที่ผมไปเดินตลาดนัด คนจะถามว่า “เฮียไม่พาเซียนหรั่งมาด้วยหรือ” แสดงว่าเขาก็รู้จัก เพราะช่วงหลังโควิดหนังฉายในโรงไม่ได้แต่ดูในออนไลน์ กระทั่งมาเป็นหนังเรื่อง “หมอปลาวาฬ” ซึ่งถ่ายทำนานแล้ว จนมาถึงเรื่องสัปเหร่อ ถ่ายหลายรอบมาก เพราะถ่ายมา 4 ปี ทีนี้ “ต้องเต” มาคุยกับ “กัส” ว่าอยากขอโอกาส อยากลองทำ ซึ่ง “กัส” เป็นคนแรกที่มาขอโปรเจกต์จบ และพา “ศักดิ์” มาขอเงิน ตอนหลังที่คุยกันรู้เรื่องคือ “กัส” กับ “ต้องเต” เขาก็บอกว่าอยากทำเรื่องสัปเหร่อจริง ๆ แล้วจะไม่ทำให้ขาดทุน แต่ตอนนี้เขาได้สปอนเซอร์แล้ว จนไม่ต้องใช้เงินซัพพอร์ตจากเรา พอเราอยู่กันแบบครอบครัวก็หยิบยืมเงินกันสำหรับไปหมุนในบริษัท รอบนี้จึงลองให้ “ต้องเต” ทำ คือที่ผ่านมาผมไม่เคยดูหนังของไทบ้านเรื่องไหน ก่อนจะฉายโรงเพราะผมไม่กล้าดู คือไม่เคยดูเฟิสต์ดราฟต์เลย เพราะไม่รู้ว่ามันจะทำหนังออกมาแบบไหน เพราะไม่อยากแทรกแซง ปล่อยให้เขาทำเต็มที่ แต่ระหว่างทางจะคุยกันตลอด

บอกครั้งแรกก่อนทำหนังว่า “แนวคิดอย่าลืมตัว เพราะหนังเราเป็นหนังทุนน้อย เราต้องเริ่มคิดว่าถ้าเรามีทุนเท่านี้จะทำอย่างไรให้รอด อย่าไปคิดว่าถ้าได้มากกว่านี้จะดีแบบนี้ ต้องดิ้นรนให้มากที่สุด ทุกภาคต้องมีค่านิยมแบบนี้เป็นหลัก เพราะเขาจะเก็บรายละเอียดได้ดีกว่าที่คิดในมุมแบบนี้ ระหว่างทำมีปัญหาเข้ามาเราจะช่วยคุยช่วยเคลียร์ให้ พอดูสัปเหร่อออกมาสิ่งแรกที่ผมโพสต์ลงในเฟซบุ๊กคือ “เด็ก ๆ เขาโตแล้ว” ไม่มีคอมเมนต์อื่นเลยในความรู้สึกของเรา เพราะหนังมันสมบูรณ์แบบมาก”

สิริพงศ์ บอกว่าเสน่ห์ในหนังเรื่องนี้คือความเป็นอีสานที่ไม่ได้ปรุงแต่ง คือบางคนปรุงแต่งให้อีสานดูกันดารเกินไป ตลกเกินไป น่าสงสารเกินไป หรือดีเกินไป แล้วแต่มุม ในฐานะที่เราเป็นคนอีสานเมื่อเราดูเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้วเวลาดูหนังของไทบ้าน หรือสัปเหร่อ รู้สึกว่าเหมือนไม่ได้ดูดาราแสดง แต่เรารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนของนักแสดง รู้สึกว่า “มันสัมผัสได้” และวิถีชีวิตของคนอีสานเราจะเจอเด็ก ๆ พวกนี้อยู่ตามร้านอาหาร ที่โน่นที่นี่ มีงานมีการมาช่วยกันทำด้วยกัน รู้สึกว่าเหมือนกับเป็นครอบครัว

“เราคิดทำเรื่องนี้ก่อนที่จะพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ แต่เรานำเสนอวิธีคิดของเรา บนข้อจำกัดของเรา แล้วแต่มุมมองของเขา ทำแล้ววัฒนธรรมเผยแพร่มันก็ใช่ ทำแล้วคนรู้จักวัฒนธรรมอีสานก็ใช่ ทำแล้วเศรษฐกิจดีขึ้นก็ใช่ แต่ทำแล้วคนมาเที่ยวในภาคอีสานถล่มทลายก็ไม่ใช่มุมนั้น ถ้าทำแล้ว เซียงกินข้าวจี่ แล้วคนมากินข้าวจี่ทั้งประเทศไม่ใช่ แต่เป็นมุมที่ว่า จริง ๆ คือวัฒนธรรมอีสานน่ารัก คนคิดถึงครอบครัวอะไรอย่างนี้คือใช่ แต่สิ่งที่เราอยากนำเสนอให้สังคม เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงมาก ไม่จำเป็นต้องมีเงินมาก แค่เรามีฝันแล้วเราตั้งใจที่จะทำกับมันอย่างตรงไปตรงมา มันมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ

หลังจากหนังฉายแล้วเราก็คุยกับทีมไทบ้านตลอด คุยกันทางเฟซบุ๊กบ้าง ล่าสุดน้องก็โพสต์ขอบคุณว่าขอบคุณเฮียโต้งที่ด่า ปกติผมจะเป็นคนเดียวที่ด่าทีมนี้ได้ แต่ด่าแบบสอนเรื่องการรับงาน การลงทุน แนวทางของหนัง แนะนำเขา เช่น ไปรับบรีฟงานลูกค้ามา ผู้กำกับคนหนึ่งบอกขัดใจทำไม่ได้ เราจะพยายามปรับมายเซตของเรา อย่างเรื่องไทบ้าน BNK ที่เขาไม่อยากทำเลย เราพยายามปรับมายเซตว่าจริง ๆ แล้วไม่ต้องผูกติดอะไรสักอย่าง แต่เราสามารถหาจุดที่ลงตัวได้ทุกคอมบิเนชัน (combination) หรือการผสมผสาน เริ่มจากดูรายการหนึ่งแล้วบอกว่าเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม แล้วผมรู้สึกว่า ไม่ได้ ไทบ้านต้องแมสกว่านี้ จึงชวนเขาคิดว่าเราต้องก้าวข้ามหนังเฉพาะกลุ่มอย่างไร เราเริ่มเปิดตลาดจากไทบ้านฺBNK แต่เสียงตอบรับอาจไม่ดีนักสำหรับไทบ้านจัด ๆ แต่ยอมรับว่าคนรู้จักไทบ้านมากขึ้น หรือเวลาใครพูดถึงทีมไทบ้านไม่ดี จะเรียกทั้งทีมมาดุเลย

เพราะเป็นพ่อจึงต้องสอนลูก ไม่ตบไม่ตีไม่ดีขึ้นเลย” เฮียโต้งของน้อง ๆ ไทบ้านทิ้งท้ายด้วยนํ้าเสียงเอ็นดู.

พรประไพ เสือเขียว