วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะพาทุกคนย้อนตำนาน “บ้านนรสิงห์” หรือทำเนียบรัฐบาล ที่เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาลไทย ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ​เกล้า​เจ้า​อยู่​หัว ​รัชกาล​ที่ ​6 โดยพระราชทานแก่ มหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ​ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ ทำไมปัจจุบันถึงได้กลายมาเป็นทำเนียบรัฐบาล ที่มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 2 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ได้ยังไง? วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว

“บ้านนรสิงห์” หรือ “บ้านพิษณุโลก” เป็นฝีมือการออกแบบของ “มาริโอ ตามานโญ” สถาปนิกชาวอิตาลีประจำกระทรวงโยธาธิการ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและออกแบบบ้าน พอมาในสมัยรัชกาลที่ 7 พระยาอนิรุทธเทวา ได้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงปฏิเสธ และเมื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาอนิรุทธเทวานำครอบครัวย้ายไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำให้ขณะนั้น บ้านหลังนี้ถูกทิ้งร้าง

ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2484 เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้าน ได้มีหนังสือถึง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอขายบ้านแก่รัฐบาล ในราคา 2,000,000 บาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะ และเสียค่าบำรุงรักษาสูง แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ

ล่วงมาถึงเดือนกันยายนปีเดียวกัน จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เห็นควรให้รัฐบาลไทยซื้อบ้านนรสิงห์ไว้ เพื่อเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ในที่สุดได้ตกลงซื้อขายกันในราคา 1,000,000 บาท โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม) ได้อนุมัติภายใต้พระบรมราชานุญาต ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แก่เจ้าพระยารามราฆพ แล้วมอบกรรมสิทธิ์บ้านนรสิงห์เป็นของสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการย้ายทำเนียบรัฐบาล จากวังสวนกุหลาบมาที่บ้านนรสิงห์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2485

รัฐบาลได้ย้ายที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีจากวังสวนกุหลาบ มาที่บ้าน 24 มิถุนายน (ปัจจุบันคือพื้นที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2485 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ทำเนียบสามัคคีชัย” และ “ทำเนียบรัฐบาล” ตามลำดับ ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ซื้อทำเนียบรัฐบาล จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยทำสัญญาซื้อขายกันในราคา 17,780,802.36 บาท แล้วจึงทำการโอนกรรมสิทธิ์ ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512

อาคารภายในทำเนียบรัฐบาล
ชื่อไทยคู่ฟ้านี้ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยที่ จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี เดิมชื่อตึกไกรสร ตั้งมาจากพระนามเดิมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ ต้นราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นอาคารสูงสองชั้น สถาปัตยกรรมเป็นแบบฟื้นฟูกอทิกแบบเวเนเชียน (Neo Venetain Gothic) ที่มีศิลปะของไบเซนไทน์ผสม ผนังนกเจาะช่องโค้งปลายแหลมทรงสูง ประดับลวดลายปูนปั้น บางส่วนเขียนสีแบบปูนแห้ง (Fresco Secco) มีบันไดขึ้นด้านหน้า สู่ห้องโถงกลาง โดยบนระเบียงด้านหน้าหลังคา ชั้นดาดฟ้าตึก ซึ่งเป็นจุดเด่น หากมองจากหน้าตึก เป็นแท่นประดิษฐานรูปปั้นพระพรหม 4 พระพักตร์ 4 พระกร หน้าตักกว้าง 24 นิ้ว มีกำแพงคลาสสิกบังฐานด้านหน้า อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2507

ภายในมีห้องต่าง ๆ ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม โดยตั้งชื่อไว้ไพเราะ ประกอบด้วย
– ห้องโดมทอง ตั้งอยู่ชั้นล่างของหอคอยทางทิศใต้ เป็นห้องพักแขกของนายกรัฐมนตรี
– ห้องสีงาช้าง ตั้งอยู่ชั้นล่างด้านหน้าทางขวามือของห้องโดมทอง เป็นห้องรับรองแขกของนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ
– ห้องสีม่วง ตั้งอยู่ชั้นล่างทางขวามือของตึก เป็นห้องรับรองแขกของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
– ห้องสีเขียว ตั้งอยู่ชั้นล่างถัดจากห้องสีม่วงทางทิศตะวันตก เป็นห้องประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
– ชั้นบน ประกอบด้วยห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ห้องทำงานข้าราชการการเมือง และห้องที่เคยใช้สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรีแต่เดิม

เหตุการณ์สำคัญ
เคยเกิดเหตุการณ์บุกรุกเข้ายึดอาคารสถานที่ 26 สิงหาคม-3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกรุกเข้ายึดอาคารและสถานที่ต่าง ๆ ภายในทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด เพื่อชุมนุมขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และต่อเนื่องจนถึงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งทางกลุ่มอ้างว่าเป็นรัฐบาลตัวแทน ของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ส่งผลให้ สมชาย เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ซึ่งไม่สามารถเข้าทำงานภายในทำเนียบรัฐบาล ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : รัฐบาล, วิกิพีเดีย