บนโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพตารางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ไว้ พร้อมระบุข้อความว่า เปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในจังหวัดภาคอีสาน ดูกันเอาเองไม่ต้องวิจารณ์ เพราะ “สหกรณ์แต่ละสหกรณ์เป็นนิติบุคคล” นั่นเอง.

โดยตารางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ได้ระบุจังหวัดในภาคอีสานไว้ทั้งหมด 19 จังหวัด มีอัตราดอกเบี้ยสูงต่ำไม่เท่ากัน โดยข้อมูลดังกล่าวลงวันที่ไว้ที่ 19 ต.ค. 66

ขอนแก่น 5.90
นครราชสีมา 6.00
หนองคาย 5.50
สกลนคร 6.50
หนองบัวลำภู 6.00
บึงกาฬ 7.00
นครพนม 6.60
อุดรธานี 4.80
เลย 5.90
ร้อยเอ็ด 6.15
ยโสธร 6.95
อำนาจเจริญ 6.50
ศรีสะเกษ 6.85
มหาสารคาม 5.75
ชัยภูมิ 5.75
บุรีรัมย์ 5.95
อุบลราชธานี 6.75
กาฬสินธุ์ 6.25
สุรินทร์ 5.50

เมื่อเปรียบเทียบตารางอัตราดอกเบี้ย จะเห็นได้ว่าแต่ะละสหกรณ์จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน โดยพบว่าจังหวัดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด คือ บึงกาฬ อยู่ที่ร้อยละ 7

หากลองคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูต้องจ่ายต่อเดือนนั้น ถ้ากู้ 100,000 บาท ต้องจ่ายดอก 7,000 บาท ถ้ากู้ 1,000,000 ต้องจ่าย 70,000 บาทต่อเดือน

ภายหลังโพสต์ดังกล่าว ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิด อาทิ ดอกเบี้ยแต่ละสหกรณ์สูง หรือ ต่ำ…ขึ้นอยู่กับ..ของผู้บริหารองค์กร ว่าจะคิดถึงสมาชิก หรือ คิดถึงตัวเอง, อุดรฯ ดอกเบี้ยต่ำที่สุด ทำไมเขาอยู่ได้ พวกดอกเบี้ยสูงๆ เพราะกลัวไม่อิ่มมั้ง เป็นต้น

สำหรับปัญหาหนี้ครูนั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินครู ไว้ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ต้นสังกัดประสานการจัดการให้ครู ได้รีไฟแนนซ์ หรือรวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อลดภาระการผ่อนชำระ โดยลดดอกเบี้ยให้ถูกลง ระยะเวลาผ่อนส่งยาวขึ้น พักชำระดอกเบี้ยให้แก่ครูที่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยชำระเพียงเงินต้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ครูทั่วประเทศ.