เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมคณะ จะเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย. 66 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อหลัก “Creating a Resilient and Sustainable Future for All” และผลักดันประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ ความเชื่อมโยงด้านการค้า ความยั่งยืนและนวัตกรรม ความเท่าเทียม และความครอบคลุม (Interconnected. Innovative. Inclusive) ซึ่งให้ความสำคัญกับการสานต่อผลลัพธ์จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการทำงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี (BCG)

วัตถุประสงค์ที่นายเศรษฐาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยเมื่อปี 65 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกให้มีการพูดคุยในเวทีเอเปคครั้งแรก ในการประชุมที่ไทยเป็นประธาน รวมทั้งการพบหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปค-ภาคเอกชนเอเปค และการตอกย้ำนโยบายประเทศไทยเปิดแล้ว และนำเสนอนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ส่วนประเด็นที่ไทยผลักดัน คือ การค้าการลงทุน ย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลก เป็นแกนกลาง ผลักดันเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia Pacific: FTAAP) และนโยบายเชิงรุกของไทยการจัดทำ/ยกระดับ FTAs ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อมโยงผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับ มหาสมุทรอินเดีย ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะผ่านการท่องเที่ยว

ความยั่งยืน ผลักดันการสานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ ย้ำความมุ่งมั่นของไทยเรื่องการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 และความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านนโยบาย ZEV การเงินสี เขียว พลังงานสะอาด และการสร้าง eco-system ที่รองรับการลงทุนที่ใช้พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจหมุนเวียน

เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการค้าดิจิทัล/e-commerce และนวัตกรรมใหม่ๆ และความครอบคลุมและความเท่าเทียม การขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับกำหนดการสำคัญของนายกรัฐมนตรีในภารกิจที่เกี่ยวกับการประชุม คือกล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit) งานเลี้ยงอาหารค่ำกับผู้นำภาคธุรกิจของเอเปค (CEOs-Leader Dinner) การหารือและรับประทานอาหารกลางวันระหว่างผู้นำเอเปคกับแขกพิเศษของประธาน (APEC Economic Leaders’ Informal Dialogue and Working Lunch with Guests)

เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเอเปคกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC Dialogue with Leaders) เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Retreat) กิจกรรมระดับผู้นำ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Forum – IPEF และเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำสำหรับผู้นำเอเปค โดยมีประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นเจ้าภาพ

ขณะที่ภารกิจที่เกี่ยวกับทวิภาคี คือการพบปะหารือกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมทั้งนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีเปรู โดยเปรูจะเป็นเจ้าภาพเอเปคต่อจากสหรัฐ ในปี 67 รวมทั้งการพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ด้วย

ทางด้านภารกิจที่เกี่ยวข้องกับเอกชนและภาคสังคม ได้แก่การพบหารือกับผู้บริหารและนักศึกษา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐ อาทิ US-APEC Business Coalition (ประกอบด้วย US-ASEAN Business Council US Chamber of commerce และ The National Center for APEC (NCAPEC)) ภาคเอกชนรายใหญ่ระดับโลกจากสาขายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะ ดิจิทัล และการเงิน-การธนาคาร และพบปะตัวแทนชุมชนไทย ณ นครซานฟรานซิสโก

โดยการประชุมเอเปคที่สหรัฐครั้งนี้ จะมีภาคเอกชนไทยไปร่วมทำกิจกรรมด้านการลงทุนด้วย เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กลุ่มอมตะ กลุ่มโรจนะ กลุ่มฮาน่า กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา กลุ่มซีพี และกลุ่ม ปตท. เป็นต้น