เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กกรณีการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล โดยระบุว่า 5 เรื่องน่าห่วงของดิจิทัลวอลเล็ต 1. คุณศิริกัญญาสังหรณ์ใจว่า รัฐบาลอาจจะไม่ได้เต็มใจนักที่จะผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็ได้ โดยการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะหวังยืมมือศาล รธน. ให้ตีตกโครงการนี้ (ในกรณีที่มีคนไปร้องต่อศาล รธน. แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะไม่ไปร้องต่อศาล รธน. แน่ๆ) เพราะรัฐบาลนี้ น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่ากรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านในครั้งนี้ อาจถูกนำไปเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน (รถไฟความเร็วสูง) เมื่อปี 2556 ซึ่ง ณ ขณะนั้น ก็ถูกศาล รธน. ตีตกไป เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ 

ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะคุณเศรษฐาย้ำมาในทุกเวที ย้ำในทุกครั้งในการสัมภาษณ์ ว่าจะขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยไม่มีการกู้เงิน แต่ ณ วันนี้ ชัดเจนแล้วว่า จะต้องมีการกู้เงินเป็นก้อนมหาศาลถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้มาแจก ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องแลกมาด้วยภาระการร่วมชดใช้หนี้สาธารณะของประชาชนคนไทยในระยะยาว 

2. ถ้าเกิดมีอภินิหารผ่านขึ้นมา SCB EIC ก็ได้ประเมินไว้แล้วว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้นๆ ตั้งแต่ 2024-2025 เท่านั้น แต่สิ่งที่ประเทศต้องแบกรับก็คือ หนี้สาธารณะก้อนมหาศาล และในขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในช่วงขาขึ้น และทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน (Higher for longer) ตลอดจนการแจกเงินนั้นอาจส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับเพิ่มขึ้นร่วมด้วย การกู้เงินในสภาวการณ์เช่นนี้ จะทำให้รัฐบาลมีภาระการจ่ายหนี้ที่หนักขึ้น ซึ่งจะทำให้โอกาสในการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ และการปรับปรุงสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคตจำกัดตัวลง และหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินในอนาคต ก็อาจจะกู้ได้อย่างจำกัดมากๆ 

3. พบว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีมาตรการในการจำกัดไม่ให้นายทุนค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามาฉวยโอกาสจากความได้เปรียบด้านเงินทุน ที่สามารถเอารถโมบายล์ และตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ เข้ามาขายสินค้าในหมู่บ้าน ตลอดจนการเช่าพื้นที่ในชุมชนระยะสั้น เพื่อทำเป็นจุดสั่งซื้อและส่งมอบสินค้า จึงเสี่ยงมากๆ ที่เงินมหาศาลก้อนนี้ จะถูกนายทุนค้าปลีกขนาดใหญ่สูบเอาไป ซึ่งจะทำให้ตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) มีค่าต่ำลงไปอีก นอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ตามเป้าแล้ว ยังอาจเป็นการทำลายล้างร้านขายของชำในชุมชนให้ราบคาบ ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมให้หนักข้อขึ้นไปอีก 

4. งบ 1 แสนล้านบาท ที่มาจากงบปี 2567 ที่ระบุว่าจะนำใช้ในการผลักดันต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ยังเป็นเพียงการพูดลอยๆ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะเอาไปทำโครงการอะไร อย่างไร 5. สรุปตอนนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะมีการเอาความจนมาเป็นเกณฑ์ในการจ่ายหรือไม่ การใช้เงินมหาศาลกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะส่งผลกระทบต่อการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในระยะยาว หรือเปล่า 

“ตอนนี้ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้จ่ายให้ทุกคนแล้ว แต่จะเลือกจ่ายให้กับ คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท โดยจะเริ่มเดือน พ.ค. (ไม่ใช่ ก.พ. หรือ เม.ย. แล้ว) นับไป 6 เดือน โดยใช้แอปเป๋าตัง แต่อ้างว่ามีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าอยู่เบื้องหลังยังไง” นายวิโรจน์ ระบุ