เมื่อวันที่ 18 พ.ย. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมผลักดันยาฮอร์โมนเป็นสิทธิประโยชน์ในส่วนของงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) สำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย LGBTQ+ ว่า ปัจจุบันคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังไม่มีสิทธิประโยชน์ในการเบิกจ่ายอะไรเลย ต้องออกค่ารักษาเองทั้งหมด ทั้งค่าฮอร์โมน ค่ายา ค่าผ่าตัด ซึ่งการข้ามเพศจะมีการใช้ฮอร์โมนตั้งแต่ก่อนแปลงเพศ และหลังข้ามเพศแล้วก็ต้องใช้ฮอร์โมนเพศไปจนถึงวัยทองถึงจะลดการใช้ลง ประเมินคร่าวๆ คนข้ามเพศหนึ่งคนจะยาฉีดฮอร์โมนเพศชายประมาณ 26 ครั้งต่อปี ฉีดสัปดาห์เว้นสัปดาห์ จึงต้องศึกษาความคุ้มค่า คุ้มทุน ซึ่งจริงๆ มีทีมที่กำลังดำเนินการอยู่ว่าการให้ฮอร์โมนข้ามเพศมีความคุ้มทุนอย่างไร

“ส่วนตัวมองว่าการให้ฮอร์โมนมีความคุ้มค่า เพราะช่วยลดภาวะความทุกข์ใจจากเพศสภาพของตัวเอง (Gender Dysphoria) เพราะเวลาที่เรามีเพศไม่ตรงสภาพจิตใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจ และมีความเสี่ยงเรื่องการพัฒนาตัวตนที่ไม่ดี ความรู้สึกวิตกกังวล รู้สึกถูกปฏิเสธ เราแตกต่าง โรคซึมเศร้า บางคนถึงขั้นไม่ชอบตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจระยะยาว การที่คนเหล่านี้เข้าไม่ถึงหรือมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการเพราะติดปัญหาค่าใช้จ่าย ก็ทำให้ปัญหานี้อยู่กับเขา และเกิดผลกระทบเรื้อรังและรุนแรงในระยะยาวได้” พญ.จิราภรณ์ กล่าว

พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า การจะข้ามเพศต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ที่แพทยสภารับรอง ที่จะมีความรู้ความเข้าใจในการให้ฮอร์โมน ซึ่งแพทยสภากำลังออกข้อบังคับแพทยสภาภายในเดือน พ.ย. นี้ ได้แก่ หมอต่อมไร้ท่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น หมอสูตินรีเวชด้านฮอร์โมน หมอด้านเวชศาสตร์ทางเพศที่เริ่มมีการผลิต และหมอที่เคยมีประสบการณ์การดูแลคนข้ามเพศมาก่อนมากกว่า 50 เคสขึ้นไป ก็จะเป็นกลุ่มที่ให้ฮอร์โมนได้ และขณะนี้แพทยสภามีการอบรมระยะสั้น เพื่อพัฒนาทักษะแพทย์จำนวนหนึ่งให้มีองค์ความรู้ในการให้ฮอร์โมนได้  

พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า การผลักดันให้ยาฮอร์โมนเพศอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์จะช่วยให้คนเข้าถึง พราะปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องการเข้าถึงสิทธิการรักษา เมื่อเข้าถึงก็จะช่วยลดอันตรายจากากรใช้อย่างไม่ถูกต้องได้ ดังนั้นจึงอยากฝากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้มองคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นบุคคลทั่วไปบุคคลหนึ่งที่ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษ เพียงแต่ต้องการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย และการรักษา 

“จากเดิมเราเข้าใจว่า การให้ฮอร์โมนข้ามเพศ เหมือนเป็นการทำศัลยกรรมความงาม แต่จริงๆ ไม่ใช่ การให้ฮอร์โมนข้ามเพศในปัจจุบันคือการรักษา การส่งเสริมให้มีสุขภาวะ และการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ก็น่าจะมีความคุ้มค่า เขาไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษหรือเป็นเรื่องการเสริมความงามหรืออะไร แต่เป็นแค่การทำให้เขาสามารถมีร่างกายที่ตรงไปกับสภาพจิตใจ ปัจจุบันคนข้ามเพศมี 1-2% หรือประมาณ 6 แสนคน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราน่าจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้มีสุขภาพที่ดี และระยะยาวจะเป็นการลดการใช้เงินของประเทศในการดูแลความเจ็บป่วยจากการกินยาฮอร์โมนไม่เหมาะสม การเข้าไม่ถึงบริการ ไปกินหรือฉีดฮอร์โมนเองที่อาจเป็นอันตราย” พญ.จิราภรณ์ กล่าว.