เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงนี้ ที่ป่าสนริมชายหาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ในช่วงเช้า ๆ จะพบชาวบ้านใช้ไม้ไผ่ยาวปลายผูกตะขอเหล็ก ดึงเขย่าและฟาดกิ่งสนเพื่อจับแมงชนิดหนึ่งที่เกาะอาศัยอยู่คือ “แมงพลับ” หรือที่ชาวบ้านบางคนจะเรียกว่า “แมงพลัด” เมื่อตกลงมาจากกิ่งสนแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นไม่บินหนีไปไหน เดินไปเก็บใส่ถุงได้เลย เมื่อได้ตามจำนวนแล้ว ก็จะนำกลับบ้านไปทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำให้สะอาด เด็ดปีก เด็ดขาและตัดก้นเอาขี้ออก เตรียมส่งขายให้ลูกค้าที่ต้องการนำแมงพลับสดไปปรุงเมนูเอง ขณะที่บางส่วนก็นำมาทำเป็นเมนูเด็ดยอดนิยมนั่นคือ “แมงพลับคั่วกะทิ”ที่มีรสชาติหวานๆ เค็ม ๆ มัน ๆ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเป็นอย่างมาก ทำให้สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

โดย นายสันติภาพ เผือกยาน ลูกจ้างร้านอาหารชายหาดท้ายเหมือง เล่าว่า ตนเองได้อาศัยเวลาว่างตอนเช้า ๆ ออกมาจับแมงพลับขาย ส่วนใหญ่มันจะอยู่ตามกิ่งต้นสนและต้นหูกวาง แล้วเอาไปทำความสะอาดขายแบบสดในราคา 100 ตัว 80 บาท สร้างได้เสริมวันละ 500-800 บาท

ขณะที่ น.ส.แวววรรณ บุปผา ชาวบ้านหมู่ที่ 9 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กล่าวว่า แมงพลับจะมีมากในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม จะมีมากตั้งแต่หาดท้ายเหมืองไปจนถึงในที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง แต่เดิมนั้นจับกินเองและขายเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นอาชีพหลักออกมาจับทุกวัน เพราะมีออร์เดอร์จากลูกค้าทั้งในพื้นที่และทางออนไลน์จากต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก สามารถทำรายได้สูงสุดวันละกว่า 1,000 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งเป็นเมนู “แมงพลับคั่วกะทิ” ในราคาตัวละ 1 บาท

แมงพลับหรือแมงพลัด เป็นภาษาถิ่น แล้วแต่จะเรียกกันในแต่ละท้องถิ่น ชาวบ้านทั่วไปจะเรียนสั้น ๆ ว่า “แมง” แต่ในความเป็นจริงแล้วสัตว์ตัวนี้มีขา 6 ขา ต้องเรียกว่า “แมลง” จึงจะถูกต้อง คนอีสานเรียก “แมงจินูน” แมลงพลัดมีลักษณะลำตัวกลมรี ปีกนอกแข็ง ปีกในค่อนข้างอ่อน มีหลายสีทั้ง สีเทา สีขาว สีน้ำตาลเข้ม และสีดำ ส่วนหัวเล็ก มีตา 2 ตา มีหนวด 2 เส้น แต่ไม่ยาวมากนัก ต่อจากหัวเป็นหน้าอกและลำตัว มีก้นแหลม ตัวคล้ายแมงดานา แต่แมงดานาตัวแบน ส่วนแมลงพลัดตัวรีกลมอ้วน มันอาศัยอยู่ใต้ดิน.