ตามที่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผบช.ก. มอบหมายให้ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พ.ต.อ.สิทธิพร กระสิ ผกก.2.บก.ปปป. พร้อมด้วย นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เจ้าหน้าที่ ปปช. และ ปปง. นำกำลังตรวจค้น 5 เป้าหมาย ในจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกทม. หลังสืบสวนพบว่ามีข้าราชการทุจริตในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นั้น

คืบหน้าเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ บก.ปปป. นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการปปท.นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลาขาธิการ ปปช.นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รรท.อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ2 น.ส.ปราณี สถิตชัยเจริญ รองโฆษก สำนักงานปปง.และพล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พ.ต.อ.สิทธิพร กสิ ผกก.2 บก.ปปป. ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมนางจรรยา ทรัพย์ธรณี อายุ 54 ปี นักวิชาการพัสดุ ฝ่ายพัสดุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ น.ส.รัตนาภรณ์ หงษ์ทอง อายุ 32 ปี ลูกสาว และนายอานนท์ หงษ์ทอง อายุ 32 ปี ลูกเขย ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ข้อหา ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐฯ และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ต้องหาถูกจับพร้อมของกลางเงินสด 4,600,000 บาท ปืนพกออโตเมติก และปืนลูกโม่ 6 กระบอก, โฉนดที่ดิน 6 ฉบับรถยนต์ 4 คัน, นาฬิกาโรเล็กซ์ จำนวน 6 เรือน และกระเป๋าแบรนด์เนมอีก 6 ใบ

นายภูมิศาล กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นจากการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์แค่ 4 บรรทัด ที่ระบุใจความสำคัญถึงกระบวนการของผู้ต้องหา ซึ่งระบุว่า “ด้วยมีรายชื่อหนึ่งรายชื่อ อยู่ที่ฝ่ายบริหาร สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ โดยวิธีเจาะจงกับร้านที่ร่วมกระทำความผิดบ่อยครั้ง แต่ละครั้งยอดนั้นไม่เกิน 100,000 บาท ที่อยู่ของร้านนั้น อยู่ที่เดียวกับบ้านของผู้ที่กระทำความผิดรายนี้ ขอให้ช่วยไปดำเนินการตรวจสอบให้หน่อย” เมื่อตรวจสอบก็พบพฤติกรรมของนางรัตนาภรณ์ ว่าทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจริง

นายภูมิศาล กล่าวต่อว่า นางรัตนาภรณ์นั้นเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำรายการจัดซื้อจัดจ้าง ก่อนเสนอต่อนางจรรยา หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และมีความสัมพันธ์เป็นแม่ลูกกันนั่นเอง ซึ่งตามตำแหน่งนางจรรยามีอำนาจอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง โดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กรณีงบประมาณไม่เกิน 1 แสนบาท เมื่อรับอนุมัติงบประมาณแล้วก็จะมีการสั่งซื้อพัสดุในนาม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.โดยสั่งซื้อจากบริษัท เอ็นวาย พลัส จำกัด ซึ่ง มีนายอานนท์ ลูกเขยเป็นเจ้าของบริษัทฯ เบื้องต้นพบรายการจัดซื้อ จัดจ้าง ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 จนถึงช่วงเดือนสิงหาคม 2566 พบการจัดซื้อจัดจ้าง รวม 89 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 8,865,640.15 บาท

ส่วน พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาใช้การกระทำซ้ำๆ แต่มีข้อพิรุธคือมีเลขหนังสือเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด และการกระทำของนางจรรยา กับกรรมการตรวจรับนั้นไม่สอดคล้องกัน โดยมีการปลอมรายมือชื่อ ผอ.และ กรรมการตรวจรีบอีก 2 รายชื่อ ในทุกรายการที่ปลอมเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง

พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวด้วยว่า ผู้ต้องหาอาศัยช่องว่างของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง คือใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเฉพาะเจาะจงงบประมาณที่ไม่เกิน 1 แสนบาท และเลือกซื้อรายการ วัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบชิ้นเล็กๆ ประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำยาเคมี ชุดตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งของเหล่านี้เป็นวัสดุชิ้นเล็กแต่สิ้นเปลือง และมีราคาสูง การจัดซื้อตัวผู้ต้องหาสามารถกระทำการได้แต่เพียงผู้เดียวมาตลอดหลายปี เพราะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียว

ด้าน พล.ต.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ส่วนการขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องคือบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การแพทย์ คือ เบื้องต้นพบพฤติกรรมการซื้อซ้ำๆ กับบริษัทเดิม 2 บริษัท บริษัทแรก คือ บริษัท เอ็น วาย พลัส จำกัด ซึ่งมีสามีของนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าของ เปิดดำเนินการ ปี 2554 ปีงบประมาณ 2566 พบการซื้อ 44 ครั้ง รวม 153 รายการ เป็นเงิน มากกว่า 4,300,000 บาท

อีกบริษัทคือ บริษัท กู้ด แฟมิลี่ เปิดดำเนินกิจการในปี 2556 พบการสั่งซื้อ 45 ครั้ง เป็นเงินมากกว่า 4,400,000 บาท ซึ่งบริษัทมีนี้นางรัตนาภรณ์เป็นเจ้าของบริษัทเอง โดยนางจรรยารับข้าราชการที่สถาบันชีววิทยาวิทยาศาสตร์ มานานกว่า 30 ปีแล้ว จึงมีการตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี พบมีการจัดซื้อจัดจ้าง 721 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมากกว่า 51,300,000 บาท สำหรับตัวผู้ต้องหาหลังจากนี้ก็กำลังพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ก็อยู่ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หรือไม่

ขณะที่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า ตนเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังได้รับการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงรีบประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ตรวจสอบในทันที ยอมรับว่าผู้ต้องหาสร้างความเสียหายต่อรัฐจำนวนมาก หลังจากนี้จะยังมีการขยายผลว่า มีใครรู้เห็นหรือได้ผลประโยชน์กับกลุ่มผู้ต้องหาด้วยหรือไม่หากพบก็จะไม่มีการละเว้นเด็ดขาดด้วย.